WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aBE

สจล. จับมือสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย สร้างศักยภาพอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างยั่งยืน คว้าเจ้าภาพงานประชุมวิชาการนานาชาติ ICoMST ครั้งที่ 62

      สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ  กรมปศุสัตว์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เตรียมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ครั้งที่ 62 (International Congress of Meat Science and Technology หรือ ICoMST) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต แปรรูปและส่งออกด้านเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารของไทยที่ก้าวหน้าทัดเทียมระดับนานาชาติ และเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านอาหารของโลก

    การประชุมสัมนาวิชาการนานาชาติ 62nd ICoMST จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก เนื้อสัตว์เพื่อความยั่งยืนของโลก (Meat for Global Sustainability)”  ระหว่างวันที่ 14 - 19 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้จากงานวิจัยและประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ระหว่างนักวิจัยของสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมจากทั่วโลก โดยจะมีการบรรยายพิเศษของวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ การนำเสนองานวิจัยด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ วิเคราะห์โอกาสและความท้าทายในอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารจากเนื้อสัตว์ เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคของประชากรโลก ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยและภาคเอกชนได้สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน และมีนิทรรศการของผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 600 คนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

    ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. มีบทบาทสำคัญในการจัดงานระดับโลกในครั้งนี้ ด้วยความพร้อมของคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ที่ได้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ยุคที่ 4  Value-based Economy ที่เน้นสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้สินค้าที่เป็นนวัตกรรม ในการประชุมครั้งนี้ นอกจาก สจล. จะรับหน้าที่เจ้าภาพจัดงานแล้ว ยังจะได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง นวัตกรรมการผลิตแหนมเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค: การใช้กล้าเชื้อแบคทีเรียแลคติก ในการลดแบคทีเรียก่อโรคและเสริมคุณสมบัติโปรไบโอติก โดย รศ.ดร.อดิศร  เสวตวิวัฒน์ ประธานสาขาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร และทีมวิจัยศูนย์เครือข่ายวิจัยด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ สจล. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อหมักแหนมที่ปลอดภัย และส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมักของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนและระดับโลกในอนาคต

    นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์ที่สำคัญของโลก จากเดิมที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์ปีกในอันดับต้นๆ อยู่แล้วไปสู่เนื้อสัตว์ใหญ่ กลุ่มเนื้อแดง อย่างสุกรและโคเนื้อที่กำลังตามมา โดยการสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบของห่วงโซ่การเนื้อสัตว์ ตั้งแต่ปลายน้ำ อย่างโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ กลางน้ำ อย่างโรงฆ่าสัตว์ จนถึงต้นน้ำ คือฟาร์ม และการสร้างเครือข่ายสหกรณ์ธุรกิจการเกษตรปศุสัตว์

    รศ.ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล ประธานคณะกรรมการการจัดประชุมวิชาการ 62nd ICoMST และอดีตคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าวว่า การที่เราได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพการจัดการประชุมระดับโลกครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของไทยทั้งในด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ผลงานวิจัยที่ส่งเข้าไปร่วมงานนี้มาต่อเนื่องหลายปี ตลอดจนความพร้อมของประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารที่จะได้รับความรู้และประสบการณ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยสู่ระดับโลก และประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในด้านนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดริเริ่มและหลากหลาย สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้ มีเทคโนโลยีของการผลิตปศุสัตว์และการแปรรูปเนื้อสัตว์ที่พร้อมจะร่วมลงทุนรวมถึงการถ่ายทอดให้กับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน

     นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนระบบการผลิตปศุสัตว์ของประเทศจากต้นทางถึงปลายทาง เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ด้วยวิธีการที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทางสมาคมหวังว่าความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ได้รับจากการประชุมแง่มุมต่าง ๆ จะได้ถูกนำมาพิจารณาปรับใช้เป็นแนวทางพัฒนาการผลิตปศุสัตว์และการแปรรูปเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

      ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ทาง สกว. ได้ร่วมมือกับ สจล. จัดตั้งศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ภายใต้การบริหารของคณะเทคโนโลยีการเกษตร ตั้งแต่ปี 2550 และสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการระดับชาติทางด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 5 เป็นเวทีสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตเนื้อสัตว์และวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อย่างจริงจังแบบครบวงจร การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่คนไทยจะได้แสดงถึงพัฒนาการและมาตรฐานของผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ของไทยบนเวทีระดับนานาชาติ

     ผู้สนใจเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ 62nd ICoMST สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. โทร.02 329 8000 ต่อ 3655 หรืออีเมล์ [email protected]               

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!