- Details
- Category: การตลาด
- Published: Sunday, 08 May 2016 09:32
- Hits: 3961
'ไฮเปอร์มาร์เก็ต' เติมเต็มพอร์ตเครือยักษ์เมืองไทยสู่ปลายน้ำให้ธุรกิจครบวงจร
ไทยโพสต์ : เมื่อยุคสมัยของผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนไป เพราะความสะดวกสบายได้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่คนสมัยนี้ถวิลหายิ่งนัก ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องสรรหาบริหารที่อำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ให้มากที่สุด นำมาสู่การปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งค้าปลีกรูปแบบโมเดิร์นเทรดก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนในการเดินเข้าไปช็อปปิ้งสินค้าที่ต้องการ จากเดิมที่ผู้คนยุคก่อนหน้านี้จะนิยมใช้ชีวิตอยู่กับร้านโชห่วยเป็นหลัก
'ไฮเปอร์มาร์เก็ต'ก็นับเป็นธุรกิจอีกหนึ่งประเภทในโมเดิร์นเทรดที่มีกำไรดี โดยในเมืองไทยภาพของการแข่งขันที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คงหนีไม่พ้น "เทสโก้ โลตัส" และ "บิ๊กซี" ซึ่งงัดไม้เด็ดคัดเลือกกลยุทธ์มาแย่งส่วนแบ่งกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะแข่งกันทางด้านราคา เคลมราคาสินค้ากันแบบเต็มที่ว่าของตัวเองถูกและดีกว่ามากขนาดไหน ผลประโยชน์จึงมาตกอยู่ในมือผู้บริโภคเต็มๆ เพราะได้ซื้อสินค้าในราคาถูก
แต่หากมองในมุมของนักธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังจะถูกใช้ให้เป็นแหล่งของการกระจายสินค้าที่มีอยู่ในมือของตนเอง หรือกลายมาเป็นเส้นทางปลายน้ำของเหล่าบรรดาเจ้าสัวทุนหนาของเมืองไทย หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 "ธนินท์ เจียรวนนท์" เจ้าสัวเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ตัดสินใจเซ็นสัญญากับทางเอสเอชวี กรุ๊ป (SHV GROUP) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทางแม็คโครในการซื้อกิจการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือแม็คโคร ด้วยมูลค่า 188,880 ล้านบาท ในตอนนั้นนับเป็นดีลทางธุรกิจที่มูลค่าสูงมาก แต่เจ้าสัวเชื่อมั่นว่าอย่างไรเสีย จากเม็ดเงินที่ทุ่มเทให้อย่างมหาศาลครั้งนั้น จะส่งผลดีระยะยาวและสร้างความคุ้มค่าได้อย่างแน่นอน
'แม็คโคร'อาจเป็นค้าส่งแต่ก็ถูกจัดให้เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยก่อนหน้าอาจมีทำเลอยู่ในชุมชนและให้คู่ค้าวิ่งไปหา แต่ตอนนี้รูปแบบการขยายตัวของแม็คโครกำลังขยับเข้าไปใกล้ชิดลูกค้าให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา แม็คโครได้เปิดสาขาใหม่ไปราว 16 สาขา ส่งผลให้จบปีมีสาขารวมกันแล้วประมาณ 98 สาขา ซึ่งในปี 2559 นี้ปรับกลยุทธ์บุกหนักทำเลชุมชนด้วยขนาดเล็กและเพิ่มอีก 10 สาขา
ทั้งนี้ ปัจจุบันแม็คโครมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.สยาม โฟรเซ่น (Frozen) ขนาดของพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร 2.แม็คโคร ฟู้ดช็อป (Food Shop) ขนาดของพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร 3.แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส (Makro Food Service) ขนาดของพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร 4.อีโคพลัส (Eco Plus) ขนาด 5,000 ตารางเมตร และ 5.แม็คโครคลาสสิก ขนาดของพื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยรูปแบบแม็คโคร ฟู้ดช็อป และแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส จะเป็นพระเอกและนางเอกของแม็คโครของปีนี้ที่ลูกค้าจะได้ยลโฉมกันมากขึ้น
ส่วนปัจจัยที่แม็คโครจำเป็นต้องปรับขนาดให้เล็กลงนั้น ก็เพื่อสนองการเปิดตัวร้านอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในชุมชนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มสมาชิกลูกค้าของแม็คโครก็เป็นร้านอาหารอยู่แล้ว แต่กระนั้นการปรับไซส์จะทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และทำเลก็จะหาได้ไม่ยากเท่ากับพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วย
ขณะที่ดีล'BIGC'แน่ชัดแล้วว่ากำลังจะกลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้ง จากศักยภาพทางการเงินของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" หรือเสี่ยเจริญ ที่ได้ทำให้วงการค้าปลีกมีความคึกคักตั้งแต่ต้นปีด้วยมูลค่านับแสนล้าน ความคืบหน้าเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นและทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวนทั้งสิ้น 483,077,600 หุ้น คิดเป็น 58.55% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบิ๊กซี ในราคาหุ้นละ 252.88 บาท
โดยเป็นการเข้าถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม BIGC คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 122,160 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นการขายจากกลุ่มคาสิโน ไจแอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล บีวี 32.10% ให้กับบริษัท บีเจซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BJC และเป็นการขายจากบริษัท เสาวนีย์ โฮลดิ้งส์ จำกัด สัดส่วน 26.45% ให้กับบริษัท สัมพันธ์เสมอ จำกัด ที่เป็นบริษัทย่อยของ BJC เช่นกัน
ทั้งนี้ การทำคำเสนอซื้อหุ้น BIGC ทั้งหมด 100% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ และจะเริ่มรับรู้รายได้ทันที 90,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2-4 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของ BJC จากสิ้นปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 44,000 ล้านบาท โดยยืนยันจะไม่ถอนหุ้น BIGC ออกจากตลาด และจะเดินหน้าส่งผู้บริหารไปร่วมบริหารเพื่อเร่งขยายสาขาบิ๊กซีเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีทั้งหมดมากกว่า 700 แห่ง แบ่งเป็นบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 125 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 55 สาขา มินิบิ๊กซี 393 สาขา ร้านขายยาเพรียว 147 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงร้านค้าในรูปแบบอี-คอมเมิร์ซ ได้แก่ บิ๊กซีช็อปปิ้งออนไลน์ และ Cdiscount ในปี 2559 บิ๊กซีวางแผนขยายสาขาประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต 6 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 3 สาขา และมินิบิ๊กซี 75 สาขา (ในจำนวนนี้เป็นแฟรนไชส์ 50 สาขา) ลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท
เครือเจริญโภคภัณฑ์ของ "ธนินท์" นับเป็นผู้ผลิตสินค้าและอาหารรายใหญ่ของเมืองไทย โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ประกอบธุรกิจทางด้านเกษตรและอาหารหลายชนิด ได้แก่ ซื้อขายพืชไร่, ฟาร์มไก่พันธุ์, เป็ดพันธุ์, หมู, กุ้ง, ปลาทับทิม, โรงฆ่าสัตว์, โรงงานแปรรูปอาหาร, โรงงานอาหารสัตว์ ส่วนเครือไทยเบฟฯ ของ "เจริญ" มีโครงสร้างธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีบริษัทที่อยู่ในเครือ ได้แก่ ไทยเบฟ, เอฟแอนด์เอ็น, เสริมสุข และโออิชิ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรา, เบียร์, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร รวมถึงธุรกิจของบีเจซี เป็นผู้ผลิตกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยทางเครือซีพีอาจมีร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นช่องทางของตัวเองแล้ว แต่ในทางของ "เจริญ" ยังไม่ครบ จึงจำเป็นต้องตัดสินใจเข้าซื้อ BIGC
ส่วนกลุ่มเซ็นทรัลที่เคยเป็นผู้เลี้ยงดูบิ๊กซีมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อเดือนที่แล้วบอกแต่เพียงว่ามีความสนใจเข้าซื้อกิจการบิ๊กซีในเวียดนาม แต่ดูเหมือนว่าหากไม่ประสบความสำเร็จ มีโอกาสที่เครือยักษ์ใหญ่ศูนย์การค้าอาจจะปั้น "ท็อปส์" ให้มาชนกับไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแบรนด์ เพราะจะเลือกเอาเงินลงทุนไปใช้กับการเข้าซื้อกิจการธุรกิจห้างสรรสินค้าในยุโรปมากกว่า จากแผนปี 2559-2563 วางเงินลงทุนใช้แค่รีโนเวท 10,400 ล้านบาท แบ่งเป็นลา รีนาเชนเต 3,600 ล้านบาท, อิลลุม 2,400 ล้านบาท, กลุ่มห้างสรรพสินค้าคาเดเวกรุ๊ปในเยอรมนี 4,400 ล้านบาท ตั้งเป้าจะมียอดขายเติบโตขึ้นในแต่ละปี 20% ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2563 ยอดขายของบริษัทที่มาจากการดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าต่างประเทศอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมามียอดขายแล้วกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเงินหมื่นล้านแสนล้านไม่ใช่ปัญหา แต่ความสนใจไปอยู่ที่ยุโรปมากกว่า
การทุ่มเม็ดเงินมหาศาลของทั้งสองเครือใหญ่ ไม่ใช่เป็นเพียงการขยายธุรกิจของตนเองให้ครบวงจรเพียงอย่างเดียว แต่หากการเข้าซื้อกิจการยังเป็นอีกหนทางในการตัดแรงคู่แข่งไม่ให้มีมากไปกว่านี้ ลงทุนมากหน่อยแต่ลดภัยให้กับตัวเอง แถมยังได้ช่องทางการกระจายสินค้าเข้ามาเป็นของตัวเองอีกด้วย ทั้งในส่วนของแม็คโครและบิ๊กซีมีจำนวนสาขาที่มากพอที่จะเป็นช่องทางการตลาดที่ดีได้
แต่ในขณะเดียวกัน ความอยู่รอดของไฮเปอร์มาร์เก็ตก็อาจไม่ได้คงทนถาวรมากนัก เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กำลังจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เติบโตในอนาคต ถามว่าแล้วที่ลงทุนไปมันจะคุ้มค่าไหม ก็ไม่ถึงขนาดไม่ได้อะไรเลย เพราะยังไงก็ต้องมีหน้าบ้านของตัวเองไว้ขายของอยู่ดี เพียงแค่การขยายตัวอาจทำได้ไม่มาก เพราะหากออนไลน์ในไทยสามารถเข้ามาเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคถนัดใช้มากขึ้นแล้ว การลงทุนเพื่อเปิดสาขาใหม่อาจจะไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไหร่นัก การขยายตัวของไฮเปอร์มาร์เก็ตจึงอาจเปิดในปริมาณที่ลดลง แต่ผู้ประกอบการอาจหันไปสร้างความคุ้มค่าด้วยการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ เพื่อจะเข้าสู่ออนไลน์ ซึ่งไม่มี Cost มากเหมือนเปิดสาขาใหม่ ลดต้นทุนไปได้มากพอสมควร เพราะการเปิดสาขาใหม่หากสามารถทำกำไรได้ 5-10% หรือสูงสุด 30% แต่ก็ใช้ระยะเวลานานพอสมควรอยู่เหมือนกันกว่าจะคืนทุน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) โดยเฉพาะโมเดลที่เน้นจับตลาดกลางลงล่างอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) ยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง จากสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หากผ่านฤดูแล้งและฝนตกได้ตามฤดูปกติ รวมทั้งมาตรการของภาครัฐเริ่มเห็นผล กำลังซื้อเกษตรกรอาจจะทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง แต่กระนั้นในปี 2559 คาดว่ายอดขายค้าปลีก Hypermarket อาจเติบโตเพียง 1.5-2.0% แม้ว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2558 เติบโตราว 1.8% แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
มองย้อนกลับไปถึงการทำธุรกิจค้าปลีกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมานั้น ภาพรวมดัชนีค้าปลีกของไทยเติบโตต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาที่ขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีกว่ามาโดยตลอด จากเมื่อปี 2553 เติบโต 11%, ปี 2554 โต 8.7%, ปี 2555 โต 12%, ปี 2556 โต 6%, และปี 2557 โต 3.2% หรือเฉลี่ยเติบโต 8% แต่ขณะเดียวกันในอีก 5 ปีก็ถูกคาดการณ์ว่า แนวโน้มอัตราการเติบโตค้าปลีกของไทยน่าจะมีการเติบโตอยู่ประมาณ 5% ซึ่งอยู่ในระดับปานกลางหากเปรียบเทียบกับภาพรวมค้าปลีกของเวียดนามและอินโดนีเซียที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากกว่า 10%
ความเคลื่อนไหวของวงการค้าปลีกยังต้องรอติดตามกันต่ออีกสักระยะ เนื่องจากหลังๆ เหลืออีกหนึ่งแบรนด์ที่มีข่าวมาก่อนบิ๊กซีด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ยังไม่ประกาศซื้อ-ขาย ซึ่งบุคคลในวงการค้าปลีกก็เชื่อว่าคงอีกไม่นานมากนัก คงได้เห็นดีลช่วงชิงไฮเปอร์มาร์เก็ตกันอีกครั้ง ตอนนี้เศรษฐีแห่งค่ายผู้ผลิตอาหารรายใหญ่และค่ายน้ำเมาก็ได้มาครอบครองกันไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งทำให้มีอำนาจการต่อรองที่มากขึ้นไปด้วย แล้วผู้ประกอบการรายอื่นจะยอมถอยทัพโดยง่ายได้อย่างไร เช่นนี้แล้วหากมีดีลแบรนด์ที่เหลือในตลาดเกิดขึ้นจริง ค่ายเบียร์แห่งตระกูลภิรมย์ภักดี หรือแม้แต่เครือสหพัฒน์ ก็มีโอกาสมีชื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประมูลซื้อกิจการก็เป็นได้
จากการทุ่มเทด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" แลว่ามีรสชาติหอมหวานน่ารับประทานมากน้อยเพียงไร ด้วยกลิ่นอันอบอวลไปด้วยมวลมูลค่าของกำไร ที่ไม่น้อย หน้าไปกว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่รูปแบบอื่น จากจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการเป็นอันดับสอง หรือคิดเป็น 30% รองจากร้านสะดวกซื้อที่มีสัดส่วนลูกค้าเข้าใช้บริการราว 46% และอีกกว่า 10% นิยมเข้าไปจับจ่ายภายในห้างสรรพสินค้า ก็นับเป็นแรงดึงดูดให้นักธุรกิจระดับบิ๊กพร้อมควักเงินออกมาซื้อได้ไม่ยาก เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดและเพิ่มพอร์ตทางธุรกิจของตัวเอง รอดูว่าสังเวียนค้าปลีกคราวหน้า ใครจะเป็นผู้ขึ้นมาท้าชิงบนเวทีแห่งนี้อีกครั้ง.
จากการทุ่มเทด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" แลว่ามีรสชาติหอมหวานน่ารับประทานมากน้อยเพียงไร ด้วยกลิ่นอันอบอวลไปด้วยมวลมูลค่าของกำไร ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่รูปแบบอื่น จากจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการเป็นอันดับสอง หรือคิดเป็น 30% รองจากร้านสะดวกซื้อที่มีสัดส่วนลูกค้าเข้าใช้บริการราว 46% และอีกกว่า 10% นิยมเข้าไปจับจ่ายภายในห้างสรรพสินค้า ก็นับเป็นแรงดึงดูดให้นักธุรกิจระดับบิ๊กพร้อมควักเงินออกมาซื้อได้ไม่ยาก เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดและเพิ่มพอร์ตทางธุรกิจของตัวเอง รอดูว่าสังเวียนค้าปลีกคราวหน้า ใครจะเป็นผู้ขึ้นมาท้าชิงบนเวทีแห่งนี้อีกครั้ง.