- Details
- Category: การตลาด
- Published: Saturday, 12 March 2016 19:28
- Hits: 2217
'คิง เพาเวอร์'สัญญาถูกต้อง! ผู้ค้ารายอื่นต้องการเข้ามาทำธุรกิจโปรดรออีก 4 ปี
นายสมบัตร เดชาพานิชกุล รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทผู้ให้บริการสินค้าปลอดอากร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดเผย กรณีที่มีข่าวว่า คิง เพาเวอร์ ปิดกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการสินค้ารายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ค้ารายใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ ชื่อ ลอตเต้ เข้ามาลงทุนเปิดร้านค้าปลอดอากร และมีแนวโน้มว่าไม่สามารถเปิดจุดรับส่งสินค้า (Pick Up) ในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ได้ ตนขอชี้แจงว่า การตั้งจุดรับสินค้า (Pick Up Counter) ในสนามบินไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทได้ทำตามกติกาที่ได้ทำสัญญาไว้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ที่ให้สิทธิ์ คิง เพาเวอร์ เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ที่รับสัมปทาน จัดตั้งร้านปลอดภาษี และจุดรับสินค้า อายุสัญญา 9 ปี และขณะนี้ยังเหลืออีก 4 ปีที่จะหมดสัญญาเดือน ก.ย.2563 ส่วนที่สนามบินดอนเมือง ยังเหลือสัญญาอีก 8 ปี แต่หากในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการแก้ไขรายละเอียด ตั้งแต่ในขั้นตอนการประมูล ให้ผู้ได้รับสัมปทาน สามารถนำพื้นที่ไปปล่อยให้ตั้งจุดรับสินค้าได้เพิ่มเติม
“ผมไม่เข้าใจว่า ผู้ประกอบการรายอื่นๆเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มาเรียกร้องให้มีการตั้งจุดรับส่งสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งๆที่สัญญาที่คิง เพาเวอร์ มีกับ ทอท. เหลืออีก 4 ปี เมื่อถึงเวลานั้นก็ให้เข้ามาประมูลแข่งขันกัน ในทางกลับกัน ถ้าช่วงเวลาดังกล่าว หากคิง เพาเวอร์ ประมูลไม่ได้ แล้วมาเรียกร้องภายหลัง อยากรู้ว่าเอกชนที่ได้ไปจะเปิดให้หรือไม่ เรื่องนี้มันเป็นการประมูล และการประมูลก็เริ่มไปแล้วจบไปแล้ว ทำไมไม่รอรอบประมูลคราวหน้า และการดำเนินธุรกิจก่อนที่จะมีการประมูลแข่งขัน บริษัทได้มีการประเมินความเสี่ยงไว้ว่าจะมีปัจจัยใดบ้างในการทำธุรกิจ”
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทอท.ยืนยันว่าได้ปฎิบัติตามสัญญาที่ ทอท.มีกับเอกชน และสัญญาการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในแต่ละสนามบินก็มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ต้องถือว่าในการเปิดประมูลแต่ละครั้งก็มีวิวัฒนาการของร่างเงื่อนไขเปิดประกวดราคา.
ที่มา : www.thairath.co.th
ขู่ฟ้องคลัง-ศุลกากรยื้อเพิ่มจุดส่งดิวตี้ฟรีทีจีเจ๊ง 13,000 ล้าน
ไทยโพสต์ : เอกชนจี้หาข้อสรุปการจัดหาพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าดิสตี้ฟรี ขู่ฟ้อง รมว.การคลัง-ศุลกากร ไม่ทำตามกฎหมาย ด้านบินไทยขาดทุนต่อเนื่อง 1.3 หมื่นล้าน
นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่า ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าการพิจารณาการจัดหาพื้นที่ เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า (pick up counter) ณ สนามบินนานาชาติที่อยู่ในกำกับของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. จากที่ได้ร่วมหารือกันระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกำหนดให้ได้ข้อสรุปภายในระยะเวลา 60 วัน หรือครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2559 แต่ขณะนี้ยังไร้ข้อสรุป ดังนั้นทางสมาคมอาจจะฟ้องร้องทั้งศาลปกครองและศาลอาญาเพื่อเอาผิดกับ รมว.การคลัง และกรมศุลกากร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง
“ยืนยันว่า การเพิ่มจุดส่งมอบสินค้าไม่ได้เป็นการทำผิดสัญญากับคิง เพาเวอร์ แต่โดยอำนาจของกรมศุลกากร สามารถเพิ่มจุดส่งมอบสินค้าได้ และหาให้ร้านค้าปลอดอากรเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินธุรกิจ นอกเหนือจากบริษัท คิง เพาเวอร์ จะทำให้ยอดขายสินค้าดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมียอดขายสินค้าเพียง 8.5 หมื่นล้านบาท และยังทำให้ ทอท.สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เพิ่ม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับสิงคโปร์ ฮ่องกง รวมถึงลาว" นางรวิฐากล่าว
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ในปี 2558 การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 13,067 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,304 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการดำเนินการตามแผนปฏิรูป 4,167 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 12,157 ล้านบาท ที่มาจากเครื่องบินแอร์บัส 10 ลำ ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 3,512 ล้านบาท
"ในปี 59 การบินไทยมีแผนที่จะเปิดจุดบินใหม่ในอาเซียน 3-4 จุด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย และเตรียมกลับมาบินที่มอสโก ประเทศรัสเซีย ในตารางการบินฤดูหนาว ที่จะเริ่มเดือน ต.ค.59 รวมทั้งจะเพิ่มเส้นทางจุดบินที่จีน และมั่นใจว่า ในปี 2559 นี้จะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิน แฟคเตอร์) ที่ 80%.
โชห่วยบุหรี่โอดเศรษฐกิจขาลง วอนรัฐทบทวนนโยบายขึ้นภาษี
จากกรณีที่หน่วยงานเอ็นจีโอต้านบุหรี่โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งขึ้น "ภาษีบาป" อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สมาคมการค้ายาสูบไทยซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกร้านค้าปลีกโชห่วยที่ขายบุหรี่ทั่วประเทศ 1,300 ราย โดยนางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคม กล่าวว่า "สิ่งที่เอ็นจีโอเรียกร้องให้ขึ้นภาษีสินค้าท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวนั้น เป็นมุมมองที่ขาดความเข้าใจในภาพรวมของเศรษฐกิจปากท้องของคน จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 2-10 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 43.9 ของประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาสูงจนเกินไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี พ.ศ.2559 ตามมาด้วยร้อยละ 35.5 ต้องการให้แก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การที่เอ็นจีโอออกมาเรียกร้องให้ขึ้นภาษีในขณะนี้นั้นดูเหมือนจะไม่สนทิศทางสภาพเศรษฐกิจในประเทศและสภาพคล่องของการทำธุรกิจและทำมาค้าขายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อยอย่างโชห่วย ยิ่งไปกว่านั้น การขึ้นภาษีทุกครั้งนำไปสู่การขยายตัวของบุหรี่ราคาถูกและผิดกฎหมาย ทั้งของเถื่อน-ของปลอมโดยที่การบริโภคยาสูบต่างไม่ได้ลดลงตามที่คุณหมออ้าง"
จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ปรากฏว่าภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.9) เนื่องจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคยาสูบราคาถูกเพิ่มมากขึ้น
นางผกาพร สายแก้ว เจ้าของร้านค้าปลีกโชห่วยแห่งหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และสมาชิกสมาคมการค้ายาสูบไทย เสริมว่า "ทุกวันนี้เศรษฐกิจขาลงมากๆ ยอดขายโดยรวมของร้านตกลงบางวันถึงร้อยละ 70 สมมติว่าปกติร้านเคยมีรายได้วันละหมื่นบาท ทุกวันนี้บางวันขายได้เพียง 3,000 บาท ยอดขายตกลงทุกตัว ทุกสินค้า ถ้าคุณมาขึ้นภาษีอีก ก็เหมือนกับทำให้เราขายของยากมากขึ้น ร้านค้าแบกภาระมากขึ้น อีกทั้งในพื้นที่นี้ปัญหาบุหรี่หนีภาษีก็เป็นเรื่องที่คนชินไปแล้ว พูดง่ายๆ ว่าตรงไหนของถูก ลูกค้าก็ไปซื้อตรงนั้นและรัฐบาลก็ยังแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ชาวนาหรือชาวสวนยางออกมาเรียกร้องเรื่องราคาได้ แต่ถ้าร้านค้าขายของไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องกับใคร"
ข้อมูลจากกรมศุลกากรแสดงตัวเลขการจับกุมการค้าบุหรี่ผิดกฎหมายในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 มีปริมาณบุหรี่ผิดกฎหมายที่จับกุมได้ทั้งสิ้น 46,016,084 ซอง สำหรับส่วนของกรมสรรพสามิตก็มีการจับกุมดำเนินคดีในสินค้าบุหรี่ผิดกฎหมายเช่นกันโดยในปี 2557 สรรพสามิตจับกุมดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น 17,909 คดี รวมมูลค่าเสียหายทางภาษี 320 ล้านบาท และในปี 2558 รวม 16,599 คดี มูลค่า 299 ล้านบาท การขึ้นภาษีที่สูงเกินไปจะทำให้ช่องว่างของราคาสินค้าที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายห่างกันมากขึ้น เพราะราคาสินค้าที่ได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคไม่ได้หยุดการบริโภค แต่หันไปหาของที่มีราคาถูกกว่าซึ่งก็คือผ่านช่องทางที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ รัฐเองก็เสียประโยชน์จากรายได้การจัดเก็บภาษีที่ควรจะได้ และร้านค้าเองก็สูญเสียรายได้จากการขายสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย
"สมาคมฯ ขอส่งผ่านเสียงวิงวอนของร้านค้าปลีกรายย่อยซึ่งมีอนุญาตจำหน่ายบุหรี่กว่า 800,000 รายทั่วประเทศว่าอยากให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องภาษีอย่างรอบคอบและผลกระทบรอบด้าน และไม่ออกมาตรการที่มาซ้ำเติมร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้หนักไปกว่าเดิม" นางวราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ธ.ก.ส.เตรียมเสนอครม.ขยายเกณฑ์โครงการประกันภัยพืชผลเพิ่มสิทธิคุ้มครอง
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับเพิ่มเงื่อนไขให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการประกันภัยนาข้าวให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น จากเดิมเงื่อนไขโครงการมีการกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติก่อนเกษตรกรจึงจะได้รับการคุ้มครอง แต่พบว่าปีที่ผ่านมามีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จึงทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามโครงการ
"เรื่องนี้ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับเพิ่มเงื่อนไข โดยให้มีการเขียนกำกับเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมของโครงการลงไปว่าจะพิจารณาการให้ความคุ้มครองเป็นรายกรณีหากไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ หรือพื้นที่ที่ประสบปัญหาต่อการเพาะปลูก เพราะปีที่ผ่านมามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายคนได้รับผลกระทบในส่วนนี้ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ในเดือนนี้" นายลักษณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวคิดที่จะยกระดับโครงการประกันภัยพืชผลออกไปสู่พืชชนิดอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในทุกส่วนของภาคเกษตร ซึ่งกำลังศึกษาในรายละเอียดอยู่ พร้อมทั้งมีแผนจะยกระดับโครงการดังกล่าวให้เป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยการออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้มีการวางกรอบแนวทางการทำงานที่ชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 มีเป้าหมายขยายพื้นที่ประกันภัยข้าวนาปีเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านไร่ และคาดว่าจะสามารถดึงเกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้อย่างน้อย 2 แสนราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 9.2 หมื่นราย พื้นที่ 1.51 ล้านไร่ โดยเป็นการคุ้มครองภัย 7 ประเภท คือ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชและโรคระบาด
อินโฟเควสท์