- Details
- Category: การตลาด
- Published: Sunday, 28 February 2016 16:49
- Hits: 5986
4 ค่ายมือถือรายเล็กรวมตัวต่อรองเจ้าของโครงข่ายหวังลดต้นทุน
แนวหน้า : นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานชมรม ไทยแลนด์ เอ็มวีเอ็นโอ คลับ เปิดเผยว่า กลุ่มสามารถฯ ได้ทำธุรกิจการให้บริการขายส่งขายต่อ (โฮลเซลล์ รีซเซลล์) หรือ ผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือนจริง หรือ เอ็มวีเอ็นโอ (MVNO) หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหามากมาย เนื่องจากปัญหาการติดตั้งโครงข่ายการให้บริการที่ไม่ครอบคลุมของทีโอที ส่งผลให้ สามารถฯ ทำตลาดไม่ได้เต็มที่ ยอมรับว่าทำให้บริษัท ขาดทุนถึง 100 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีลูกค้าอยู่จำนวน 3 แสนเลขหมาย
ดังนั้น จึงทำให้เกิดการรวมตัว 4 ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ MVNO ประกอบด้วย 1.บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำกัด ผู้ให้บริการ I-Mobile 3Gx 2.บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ Myworld 3G 3.บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ 168 และ 4.บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด จัดตั้งเป็นชมรม Thailand MVNO Club เพื่อผลักดันธุรกิจบริการ MVNO ให้เติบโตและส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างผู้ให้บริการ รวมถึงการมีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมในการประสานงานกับภาครัฐเพื่อร่วมวางนโยบาย กฎหมาย โดยผู้ให้บริการ MVNO จะให้บริการภายใต้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT อย่างไรก็ตาม การให้บริการภายใต้โครงข่าย กสท โทรคมนาคม ปัจจุบันมีความสามารถรองรับการใช้งาน (คาพาซิตี้) ที่เหลืออยู่ราว 20% ของจำนวน คาพาซิตี้ทั้งหมด ที่อีก 80% ของทรูฯ และเรียลมูฟ ซึ่งคาพาซิตี้ 20% จะสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งสิ้น 4 ล้านเลขหมาย
นอกจากนี้ เป็นการส่งเสริมมาให้ผู้ประกอบการใช้โครงสร้าง พื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และใช้ทรัพยากรด้านโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ โดยการจัดตั้งชมรมฯ ดังกล่าวแผนงานแรกที่จะดำเนินการ คือการเข้าไปพบเพื่อพูดคุยกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในเรื่องของประเด็น การติดขัดปัญหาเกี่ยวกับการทำMVNO ในด้านของผู้ประกอบการ และการลดต้นทุนของผู้ให้บริการ MVNO อาทิ ระบบบริหารการจัดการ ระบบบิลลิ่ง ฯลฯ
"ต่อไปในประเทศเพื่อนบ้านจะมีการทำ MVNO ขยายออกไปในประเทศพม่า จะมีความร่วมมือกับ ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านต่อไป ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ MVNO จะต้องรอดูภายใน 3 เดือน ว่าจะเป็นไปอย่างไร ตลาดตอบรับได้ดีแค่ไหน ซึ่งจะทำให้มีผู้ให้บริการ MVNO เข้ามาหลายรายเพื่อมาทำตลาดในปีนี้ ก็คงเป็นจุดเริ่มต้น คงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้" นายวัฒน์ชัย กล่าว
ส่วนการทำMVNO กับ ทีโอที กลุ่มสามารถฯ ก็ยังคงทำต่อไป โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการทำ MVNO กับ กสท โทรคมนาคม เมื่อเทียบกับ ทีโอที น่าจะมีความอยู่รอดได้มากกว่าทีโอที เนื่องจาก ทีโอที มีอัตราการไหลออกของลูกค้า (เชินเรท) สูงกว่า กสท โทรคมนาคม ซึ่งการทำ MVNO ทั้ง 4 รายเป็นจุด เริ่มต้น และการทำกับ กสท โทรคมนาคม อาจจะประสบปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาและอุปสรรคจะมาจากการขยายโครงข่าย และนโยบายการผลักดันการเกิดMVNO อย่างแท้จริง โดยเราเชื่อมั่นว่าโครงข่ายของ กสท โทรคมนาคม มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
นายชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด และเลขานุการชมรม ไทยแลนด์ เอ็มวีเอ็นโอ คลับ กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจการให้บริการ MVNO ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ๆ ในแวดวงสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการที่สร้างความแตกต่างเฉพาะกลุ่มได้อย่างทั่วถึงหลากหลายและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์บริการและโปรโมชั่นเพื่อผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจรวมถึงการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันรายได้ต่อเลขหมายของผู้ให้บริการ MVNO ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มลูกค้า
ตั้ง'ชมรม MVNO'สู้ศึกซิมมือถือ
ไทยโพสต์ : เซ็นทรัลเวิลด์ * 4 ผู้ประกอบการ MVNO รวมตัวตั้งชมรมใหม่ หวังช่วยลดต้นทุนธุรกิจและเพิ่มอำนาจต่อรองทางธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 4 ผู้ให้ บริการเครือข่ายมือถือในรูปแบบ ผู้ให้บริการขายส่งขายต่อ (MVNO) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ไอโมบาย พลัส จำกัด, บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอคอมมูนิเคชั่น จำกัด, บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด ได้ร่วมกันจัดตั้งชมรม Thailand MVNO club เพื่อผลักดันบริการให้พัฒนาและเติบโต วางชมรมเป็นสื่อกลางประสานงานกับภาครัฐในการหาข้อสรุปและนโยบายเกี่ยวกับ MVNO รวมถึงการลดต้นทุนในการบริหารธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น และประธานชมรม Thailand MVNO Club กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการตั้งชมรมขึ้นมา เนื่องจากทางกลุ่มสามารถถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกๆ ที่เริ่มให้บริการ MVNO มาเกือบ 5 ปีแล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับทีโอที ทำให้มีประสบการณ์ในการให้บริการ
วัตถุประสงค์หลักในการตั้งชมรมนี้ขึ้นมา คือ การผลักดัน และสนับสนุนให้บริการ MVNO สามารถเติบโตได้พร้อมไปกับการ ประสานงานกับภาครัฐ เพื่อให้ ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ประกอบการมีแนวทางที่ชัดเจนในการให้บริการ รวมถึงเห็นโอกาสที่ดีในการเข้ามาทำตลาด MVNO กันมากขึ้น รวมถึงสามารถ ไปต่อรองกับทางผู้ให้บริการเครือข่าย หรือรวมตัวกันเช่าใช้บริการเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป และร่วมกันกำหนดทิศทางในมุมของผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์ในการทำตลาด
ด้านนายชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด และเลขานุการชมรม Thailand MVNO Club กล่าวว่า ทางชมรมเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการ MVNO รายอื่นที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ เพียงแต่ต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตและมีการให้บริการจริงเท่านั้น และต้องไม่ได้เป็นบริษัทย่อยของผู้ประกอบการรายหลักในตลาด.