- Details
- Category: การตลาด
- Published: Saturday, 28 June 2014 20:40
- Hits: 2922
ดีลอยท์ คาดโรดแมปคสช.หนุนสินค้าอุปโภคบริโภค-อาหารฯ-ค้าปลีกฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มอื่น
นายสหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด มองผลกระทบโรดแมป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมา กระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชนหลายแห่งได้ปรับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 57 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 3.0
ทั้งนี้ การดำเนินการตามโรดแมปของ คสช. จะช่วยส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนและดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ระยะเวลาฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่สำคัญของไทยจะแตกต่างกัน จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรการเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจร้านค้าปลีกต่างๆ
สำหรับ กลุ่มธุรกิจคาดว่าจะฟื้นตัวในระยะต่อมา ซึ่งเป็นผลมาจากระดับความเชื่อมั่นของใช้ผู้บริโภคและนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และการนำเที่ยว
กลุ่มธุรกิจที่คาดว่า จะฟื้นตัวในลำดับท้าย คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายและนโยบายการลงทุนของภาครัฐและธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุนระยะยาว อาทิ วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การผลิตพลังงานทดแทน
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.57 ในภาพรวมแย่ลงจากปี 56 โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนที่มีต่อวิกฤติการเมือง หลังจาก คสช.ทำหน้าที่บริหารประเทศตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นหลายด้าน
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานว่าความต้องการขอสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 52.2 (ค่าดัชนีมากกว่า 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น) นอกจากนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นและยืนในระดับที่สูงกว่า 1,400 จุด จนถึงปัจจุบัน
สำหรับ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่น่าจับตามอง คือ ปัญหาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า การลงทุน การเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ การทบทวนโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เพื่อควบคุมการใช้จ่ายและป้องกันการทุจริต อาจส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐเกิดความล่าช้า สำหรับภาคการเกษตร คาดว่าจะเผชิญความเสี่ยงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาดโลก และผลกระทบจากการยกเลิกนโยบายประชานิยม
ขณะที่ข้อเสนอแนะเพื่อรับมือความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย (1) การมุ่งเน้นการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศกับกลุ่มอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพ (2) การส่งเสริมและฟื้นภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบของเศรษฐกิจไทย (3) กระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณและการลงทุนของภาครัฐให้รวดเร็ว รัดกุม และโปร่งใส และ (4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก
ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างชำระแก่ชาวนา 8 แสนราย เป็นเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท การเร่งอนุมัติโครงการที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ไปอีก 1 ปี การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท การตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) โดยมาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 57 เป็นต้นไป และหากภาวะเศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ3.7ตามการพยากรณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การส่งออกของประเทศไทยน่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 5ตามการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์
อินโฟเควสท์