- Details
- Category: การตลาด
- Published: Thursday, 16 April 2015 17:25
- Hits: 1727
รายงานพิเศษ: ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง - แคมเปญ- เฮาส์แบรนด์สูตรไม่ลับที่ใครก็ทำเพื่อยอดขาย
ไทยโพสต์ : การสร้างแบรนด์นับเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรของผู้ประกอบการที่จะต้องมีในการดำเนินธุรกิจ เพื่อจะทำให้สินค้าสามารถเข้าไปถึงใจผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น โดยการสร้างแบรนด์ก็มีสื่อที่จะส่งสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคด้วยกันหลายทาง แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือที่ชื่อว่า'ออนไลน์'จะถูกดึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำตลาดให้แบรนด์สินค้ากันอย่างแพร่หลาย เพราะแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นกิจกรรมหลักในชีวิต ก็สามารถสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองให้เกิดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ไม่ยากเลย
ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง (Viral Marketing) ดูเหมือนจะเป็นทางลัดของผู้ประกอบการหลายคนที่เลือกใช้สูตรนี้กันในการสร้างแบรนด์ เปรียบเสมือนเป็นการสร้างไวรัสชนิดหนึ่งให้เข้าไปถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทำยังไงก็ได้ให้สามารถสร้างกระแสและแพร่กระจายอย่างวงกว้างให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางเลือกก็มีเพียงแค่สองทาง คือ แง่ดีและแง่ลบ บริษัทใดก็ตามมีแผนพีอาร์ที่แปลกกว่า สะดุดกว่า ก็จะทำให้การพูดถึงถูกส่งต่อกันรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้ดียิ่งกว่า เริ่มต้นจากคนจำนวนเพียงไม่กี่คน จนได้ขยายตัวออกไปเป็นกระแสได้ทั่วประเทศ
หลังจากเกิดปรากฏการณ์ทางด้านกระแสทั้งแง่ดีและแง่ลบกันไปแล้ว ขั้นตอนต่อมาดูเหมือนผู้ประกอบการคงไม่ต้องทำอะไรกันมาก รอเพียงผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ที่มีอยู่จำนวนมากทำการคลิก Like และกด Share เพียงเท่านั้น เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่แสนจะง่าย สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการลงทุนที่น้อยมาก หรือเพียงแต่ลงทุนด้านการครีเอตให้ไวรัสที่จะถูกส่งออกไปนี้ ด้วยการใช้ความคิดให้มากสักหน่อย เพราะความแตกต่างต้องอยู่ในขั้นเทพเหนือเทพจริงๆ มิเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นเพียงโฆษณาธรรมดาทั่วไปที่เอามาลงผ่าน Youtube หรือแปะผ่าน Facebook หรือ Twitter เท่านั้น ไม่มีสิ่งเร้าใจให้เกิดการสะกิดปากของคนในสังคมในวงกว้างเกิดขึ้นได้
นายธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการได้ใช้การตลาดแบบไวรัล มาร์เก็ตติ้ง นั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถประชาสัมพันธ์แบรนด์ของตัวเองโดยที่ไม่ต้องเสียเงินไปจ่ายค่าโฆษณา หากมีคนพูดถึงกันจนกลายเป็นกระแสขึ้นแล้ว ก็จะทำให้สามารถขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ได้ไม่ยากเลย ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่นั้น จะดีหรือไม่ก็ตาม แต่จะเน้นเนื้อหาที่ทำให้คนสนใจมากกว่า
พร้อมกันนี้ ยังมองว่าสื่อโฆษณาทางทีวีตอนนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคน้อยมาก ฉะนั้นหน้าที่ของการตลาดในแต่ละบริษัทคือทำยังไงให้คนสนใจตัวเนื้อหาที่จะถูกสื่อสารออกไป พ่วงต่อไปด้วยการได้ลงหน้าหนึ่ง พอกลายเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงกันในโลกออนไลน์แล้ว สื่อทีวีก็จะนำเสนอเนื้อหานี้ตามไปด้วย ก็จะสามารถทำให้แบรนด์ติดตลาดได้ง่ายโดยไม่ต้องไปลงทุนโฆษณาผ่านทีวีเลย เพียงแต่การสร้างกระแสจะต้องควบคุมมันให้ได้ หากเป็นในเชิงลบ เพราะการใช้ช่องทางลักษณะนี้มันจะแมสมาก และอาจจะค่อนข้างควบคุมได้ยาก
ต่ออีกหนึ่งของกลวิธีของการสร้างแบรนด์ที่เรียกกันว่า 'แคมเปญ'ซึ่งก็ถือว่าเป็นปกติที่ในแต่ละบริษัทต้องทำกันอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจเครื่องดื่มก็ดูเหมือนจะแข่งกันร้อนแรงเป็นประจำทุกปีปกติด้วยเช่นกัน โดยสีสันของธุรกิจเครื่องดื่มในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ต้องยกให้กับค่ายชาเขียวที่มี "โออิชิ" และ "อิชิตัน" เป็นผู้ทำให้วงการชาเขียวสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลา หากอีกฝ่ายบุกมาแบบไหน อีกฟากก็พร้อมที่จะรุกสนองกลับทันที ไม่มีใครยอมเป็นสองรองใครในเรื่องของกิจกรรมทางการตลาดกันเลยแม้แต่น้อย เพื่อชิงบัลลังก์ยอดขายในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่มีมูลค่าถึง 15,400 ล้านบาท
สำหรับ ความร้อนแรงของการแข่งขันทั้งสองค่ายชาเขียว แต่ละปีไม่เคยมาแบบเวอร์ชั่นธรรมดาอยู่แล้ว ชื่อของแคมเปญ'อิชิตัน รหัสรวยเปรี้ยง ภาค 4 แจกเบนซ์ 50 วัน 50 คัน'จากค่ายอิชิตัน และแคมเปญ'รหัสโออิชิ ซิ่งทั่วไทย'จากค่ายโออิชิ ได้ถูกประกาศออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อยากให้ลองจินตนาการถึงเวทีมวยที่มีทั้งสองค่ายอยู่กันคนละมุม มีระยะเวลาของการขึ้นชกตลอดซัมเมอร์ก่อนระฆังหมดเวลาจะดังขึ้น ด้วยการตัดสินกรรมการเป็นกลุ่มผู้บริโภค
ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มจึงถูกขับเคลื่อนด้วยโปรโมชั่นและของล่อใจจากแคมเปญ รอบนี้สองค่ายจัดให้เป็นรถ "โตโยต้า" และ "ยามาฮ่า" แจกรถรวม 600 คัน ได้แก่ รถยนต์โตโยต้า ยารีส จำนวน 50 คัน และรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ฟีโน่ จำนวน 550 คัน รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ส่วนนี้เป็นของทางด้านโออิชิ ขณะที่ทางอิชิตันก็ไม่แพ้กัน เพราะคราวนี้เลือก "เมอร์เซเดส-เบนซ์" รุ่นเอสแอลเค 200 และซีแอลเอ 180 รวมกัน 50 คัน มากระตุ้นความอยากจะมีรถในฝันและน้ำตาลในเลือดของผู้บริโภคกันให้โหยหากันสุดตัว
สงครามในสมรภูมิรบตลาดชาเขียวพร้อมดื่มจะยังคงดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่กลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่แต่ละค่ายจะงัดออกมาสู้ศึกกัน ซึ่งการทำโปรโมชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างยอดขายให้พวกผู้ประกอบการอยู่แล้ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำจึงไม่ต้องห่วงว่าแจกกันหนักขนาดนี้จะได้กำไรกันบ้างไหม ซึ่งการตัดสินใจซื้อก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้บริโภคแต่ละคน ควรหันกลับไปถามสุขภาพตัวเองกันสักคำว่าจะคุ้มไหม หากจะต้องบริโภคกันในปริมาณมากเพื่อลุ้นของรางวัล โดยเฉพาะใครที่ชื่นชอบการลุ้น และอยากจะลองเปลี่ยนวิธีการเล่นหวยจากตัวเลขมาเป็นการเปิดฝาชาเขียวด้วยแล้ว ก็ควรทำแต่พอดีที่ไม่เดือดร้อนสุขภาพก็น่าจะดีกว่า
ต่อกันอีกหนึ่งกลยุทธ์ของการสร้างแบรนด์ผ่านตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะตกต่ำตอนนี้ ต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้บริโภคจะเลือกหาสินค้าที่มีราคาถูก ไม่ว่าจะมาจากการทำโปรโมชั่นจากเจ้าของแบรนด์ ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ก็ล้วนแต่เป็นแหล่งเลือกซื้อของถูกที่ผู้บริโภคมองหา โดยสินค้าที่เป็น "เฮาส์แบรนด์" ก็จะเป็นอีกหนทางที่ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ โดยเฉพาะของใช้ขนาดเล็กหรือสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันบางอย่างเนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งสินค้าเฮาส์แบรนด์ก็มักจะเห็นได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า และชื่อที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่คุ้นตากันดีในแบรนด์ของธุรกิจค้าปลีก
สำหรับ กลุ่มลูกค้าหลักของสินค้าเฮาส์แบรนด์คงเป็นประชาชนผู้มีรายได้ระดับกลางไปจนถึงระดับล่าง ด้วยเพราะสามารถทำราคาได้ง่ายกว่าแบรนด์ของผู้ประกอบการรายอื่น โดยแนวโน้มและโอกาสของตลาดในสินค้ากลุ่มนี้น่าจะยังมีการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากในขณะนี้สัดส่วนยอดขายที่มาจากเฮาส์แบรนด์ของธุรกิจค้าปลีกยังอยู่ในระดับน้อย จึงไม่แปลกที่ธุรกิจค้าปลีกได้หันมาจับเฮาส์แบรนด์กันอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์แก่ผู้บริโภค
การขายสินค้าเฮาส์แบรนด์ในแบรนด์ค้าปลีกไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเลือกใช้เพื่อสร้างแบรนด์มานานแล้ว ด้วยการใช้กลยุทธ์เรื่องของราคาเข้ามาตีกับสินค้าของผู้ประกอบการรายอื่น และด้วยราคาที่ถูกนี้เอง เรื่องจะถามหาคุณภาพก็คงจะต้องดูไปตามราคาที่ปรากฏ เพราะของดีที่อยู่ในระดับราคาถูกนั้นดูแล้วจะหายากอยู่เหมือนกัน โดยผู้ประกอบการค้าปลีกนับว่ามีช่องทางการจำหน่ายของตัวเองมากมาย ซึ่งอาจจะเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายหรือไม่
ในส่วนนี้ นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ความจริงแล้วการผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ของผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ ก็มาจากเจ้าของแบรนด์เป็นผู้รับจ้างผลิต เนื่องจากบางรายมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการรับจ้างผลิตให้ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งหากมีการผลิตให้กับเจ้าอื่นเพิ่มได้นั้น ก็อาจส่งผลให้ต้นทุนเจ้าของแบรนด์ถูกลงตามไปด้วย ฉะนั้นค้าปลีกไม่ได้เป็นผู้ลงมาทำเองแต่อย่างใด แต่เป็นเทรนด์ที่จะต้องเกิดขึ้นในการสร้างแบรนด์ของผู้ประกอบการค้าปลีก ไม่ต้องเอาเงินไปใช้เพื่อลงทุนโฆษณาทางอื่น
ขณะเดียวกัน ยังมองว่าเป็นผลดีที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ข้อจำกัดในสินค้าเฮาส์แบรนด์ก็คือจะไม่สามารถนำไปจำหน่ายต่อให้คนอื่นได้ นอกจากทำธุรกิจอยู่ภายใต้แบรนด์ค้าปลีกของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติมากและมีมากว่า 20 ปีแล้ว เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายได้เติบโต ก็ต้องมีการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ ในเวลานี้ในธุรกิจค้าปลีกได้แบ่งสินค้าเฮาส์แบรนด์ออกเป็นด้วยกัน 3 ระดับ คือ ระดับล่าง ระดับกลาง และระดับพรีเมียม ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็นหลายระดับ ก็เพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภคในตลาดที่มีอยู่หลากกำลังซื้อและหลายกลุ่มความต้องการ โดยในแต่ละแบรนด์ก็จะมีแนวทางการสร้างเฮาส์แบรนด์ของตัวเองที่แตกต่างกันออกไปด้วย ได้แก่ ร้านวัตสัน มีแหล่งผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ของตนเองอยู่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางแถบยุโรป เกาหลี มาเลเซีย ไต้หวัน จีน และไทย โดยมีกลยุทธ์หลัก คือ การให้ความสำคัญและรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี
ขณะที่เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ที่มีท็อปส์เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า Own Brand ได้ทำการวางตำแหน่งแบรนด์ว่าจะต้องมีภาพลักษณ์เทียบเท่ากับต่างชาติ จากปัจจุบัน เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล มีเฮาส์แบรนด์ของตัวเองทั้งหมด 6 แบรนด์ด้วยกัน โดยทางเทสโก้ โลตัส ก็จะมีสินค้าในกลุ่มนี้ 3 ระดับ ทั้งระดับล่าง ระดับกลาง และระดับพรีเมียม เน้นให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ในราคาถูก รวมถึงการทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ส่วนบิ๊กซีก็มีสินค้าหลากหลายกลุ่มทั้งอุปโภค บริโภค หรือแม้แต่สินค้าทั่วไป ซึ่งก็ไม่แตกต่างกัน จะเน้นเรื่องของราคาที่ต่ำกว่าแบรนด์อื่น
ด้านผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากสุดในประเทศไทย "ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น" ซึ่งนับว่ามีช่องทางการจำหน่ายมากมายเหลือล้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการของแบรนด์ต่างๆ หวังพึ่งพาเป็นช่องทางในการจำหน่ายหลัก และอยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการนำของมาวางขายในเซเว่นฯ จำนวนมาก
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาสินค้าเฮาส์แบรนด์เน้นเรื่องของการทำราคาให้ถูกไว้ก่อนเป็นหลัก ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าอาจดูไม่ดี โดยในส่วนของบริษัทก็มีแบรนด์ "Select" ที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อมาจำหน่ายมาเป็นอย่างดีแล้ว มองว่าการทำเฮาส์แบรนด์ต้องเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ เพราะถือว่าเป็นการรักษาชื่อเสียงให้กับเจ้าของแบรนด์ ซึ่งก็นับว่าเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทนั่นเอง โดยการผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ก็มาจากซัพพลายเออร์ที่ได้ทำการคัดเลือกมาหรือเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ผลิตสินค้าให้
การมีสินค้าเฮาส์แบรนด์ของผู้ประกอบการค้าปลีก นับว่าจะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งในการเซฟเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค ในกลุ่มคนที่ไม่ได้คำนึงว่าการซื้อสินค้าชนิดนี้จะต้องเป็นแบรนด์นั้น หรือจะต้องเลือกอินเตอร์แบรนด์ราคาสูงจึงจะถูกใจ ซึ่งสินค้าเฮาส์แบรนด์ตอนนี้ก็มีอยู่ด้วยหลายระดับ และมีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนนี้เป็นผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการค้าปลีกก็จะสามารถลดต้นทุนการทำตลาดไปในตัวด้วย เพราะสามารถโฆษณาสินค้าได้ในห้างของตัวเอง จะเลือกวางจุดโปรโมชั่นตรงไหนก็ได้เอาที่สะดวก รวมถึงยังสร้างผลกำไรได้ดีกว่านำสินค้าแบรนด์ดังเข้ามาจำหน่ายอีกด้วย
ในตอนนี้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคไม่ได้เป็นการเลือก "ซื้อสินค้า" แต่เป็นการ "ซื้อแบรนด์" เสียมากกว่า การสร้างแบรนด์หรือตราสัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนในการประกอบธุรกิจ จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะต้องทำให้ประชาชนเกิดการจดจำในตัวแบรนด์ให้มากที่สุด เพราะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า การตลาดจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะนำมาซึ่งการสร้างแบรนด์ นอกเหนือจากทฤษฎีตามตำราของการสร้างแบรนด์แล้ว ก็มีอีกหลายทางเลือกที่สามารถเป็นช่องทางของการทำตลาดเพื่อการสร้างแบรนด์ได้เป็นอย่างดี อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นเกี่ยวกับในส่วนของไวรัล มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วทุกมุมโลกขณะนี้ ต้องยอมรับว่าการแพร่ของข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการตลาดจะมีเนื้อหาออกมาแนวเชิงลบหรือบวกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนเขียนบทว่าจะซียนแค่ไหน
โดยช่องทางหลักของการทำไวรัล มาร์เก็ตติ้ง ก็คงหนีไม่พ้นออนไลน์อย่างแน่นอน เพราะโลกของอินเทอร์เน็ตมันช่างรวดเร็วยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ไม่ต้องไปวัดจากอะไรเลย ก็ดูจากกระแสผ่านโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยที่ผ่านมา ระยะหลังความ ดรามาค่อนข้างเข้มข้นและล้วงลึกกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ทว่าเมื่อความดรามาบังเกิด ต่อให้ถูกโจมตีในลักษณะเป็นไปทิศทางเชิงลบ ถามว่าผู้ประกอบการของแบรนด์ควรถอยไหม คงไม่ใช่เวลาอย่างแน่นอน เพราะโอกาสที่จะทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์มีมากขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องลงทุนเสียเงินค่าโฆษณาแพงๆ เหมือนแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ขวดชาเขียวยักษ์ในงานรับปริญญา หรือแม้แต่การสร้างหิมะเทียมที่มีปัญหาเกิดขึ้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คนเกิดการจดจำในตัวบุคคล ตัวแบรนด์ และรู้จักธุรกิจมากขึ้นทั้งนั้น
การทำตลาดเชิงลบจะไปห้ามไม่ให้เกิดขึ้นคงทำได้ยาก ส่วนความจำเป็นที่ต้องลงมาเล่นแบบนี้มีมากน้อยแค่ไหน หรือถือว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและจิตสำนึกของแต่ละแบรนด์กันไป ประเด็นลบถ้าความเสียหายถูกกระจายออกไปเป็นวงกว้าง เพียงใช้คำว่าขอโทษก็คงจบไป แต่สมัยนี้คนไทยอาจไม่ลืมง่ายอย่างที่คิดกันแล้ว ฉะนั้นเลือกที่จะสำเร็จในสูตรของการตลาดแบบปกติจะยืนยาวและยั่งยืนมากกว่า แต่หากมองในแง่ดีสักหน่อย ก็ถือเสียว่าเป็นสีสันที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันในทางผู้ประกอบการค้าปลีกที่ได้ลงมาเล่นเฮาส์แบรนด์มากขึ้น ถ้ามองกันผิวเผินก็เหมือนว่าจะเป็นการเอาเปรียบแบรนด์ของผู้ประกอบการรายอื่น แต่โดยหลักแล้วท้ายสุดผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินเองอยู่ดีว่าแบรนด์ไหนคู่ควรต่อการเสียเงินมากที่สุด.
ในตอนนี้ พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคไม่ได้เป็นการเลือก "ซื้อสินค้า" แต่เป็นการ "ซื้อแบรนด์" เสียมากกว่า การสร้างแบรนด์หรือตราสัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนในการประกอบธุรกิจ จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะต้องทำให้ประชาชนเกิดการจดจำในตัวแบรนด์ให้มากที่สุด เพราะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า การตลาดจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะนำมาซึ่งการสร้างแบรนด์ นอกเหนือจากทฤษฎีตามตำราของการสร้างแบรนด์แล้ว ก็มีอีกหลายทางเลือกที่สามารถเป็นช่องทางของการทำตลาดเพื่อการสร้างแบรนด์ได้เป็นอย่างดี อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นเกี่ยวกับในส่วนของไวรัล มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วทุกมุมโลกขณะนี้ ต้องยอมรับว่าการแพร่ของข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการตลาดจะมีเนื้อหาออกมาแนวเชิงลบหรือบวกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนเขียนบทว่าจะเซียนแค่ไหน