- Details
- Category: การตลาด
- Published: Sunday, 11 January 2015 23:17
- Hits: 2418
สหพัฒน์ฯ รับไม่มีแผนลดราคา จี้คุมอาหารตามสั่งแต่ส.ภัตตาคารไทยแย้งยังแบกต้นทุน
ไทยโพสต์ * สหพัฒน์ฯ ยันยังไม่มีการปรับลดราคาสินค้า วอนกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือร้านอาหารตามสั่งลดราคา 10-20% ด้าน ส.ภัตตาคารไทย ระบุผู้ประกอบการยังแบกรับต้นทุนหนักอยู่
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูลย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ไม่ได้เป็นปัจ จัยหนุนที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัทลดลงมากนัก เนื่องจากน้ำมันเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของการผลิตสินค้า ทำให้บริษัทยังไม่มีนโยบายที่จะปรับลดราคาสินค้าลงตอนนี้ เพราะสินค้าของสหพัฒน์ฯ ก็ค่อนข้างมีราคาถูกอยู่แล้ว แต่ก็จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะจะเป็นการสวนกระแสกับสถานการณ์ โดยภาคส่วนที่ค่อนข้างได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน โดยหลักแล้วจะอยู่ที่ภาคการขนส่ง ซึ่งในตอนนี้ทางภาครัฐก็ได้มีการเจรจาอยู่พอสมควรแล้ว
"สิ่งที่อยากให้ทางกระ ทรวงพาณิชย์ดำเนินการคือ รณรงค์ขอความร่วมมือกับทางผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่งให้ลดราคา เพื่อเป็นการแสดง ออกถึงความมีน้ำใจ เนื่องจากราคาของสินค้าไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ และผัก ต่างก็ปรับตัวลดลง อาจมีการลดราคาลงมาสัก 10-20% เป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยด้วยกัน เพราะในแต่ละครั้งที่ร้านอาหารมีการปรับราคาก็ขึ้นทีละ 10 บาท" นายบุญชัยกล่าว
สำหรับ ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายเลือกใช้กลยุทธ์จำหน่ายอาหารในราคา 20 บาท ซึ่งเป็นอยู่ในระดับที่ถูกมาก ในส่วนนี้นับว่ามีผลทางจิตวิทยาค่อนข้างดี และมองว่าหากมีผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่งยอมปรับลดราคาลง ก็จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากใช้จ่าย เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเลือกซื้อทุกวันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังคงมีนโยบายที่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาต้องเจอกับปัจจัยลบเกิดขึ้นมากมายในการทำธุรกิจ แต่ก็ยังสามารถมีการเติบโตได้อยู่ที่ประมาณ 3.5% ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเติบโตให้ดีกว่าเดิมหรืออยู่ที่ราว 7.5%
ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ทำให้ร้านอาหารขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่ ราคาปรับลดลงแต่อย่างใด เพราะการปรับลดราคาอาหาร นั้นไม่สามารถทำได้ทันที เนื่อง จากราคาวัตถุดิบที่นำมาประ กอบอาหารไม่ได้ปรับลดลงตาม เพราะราคาวัตถุดิบขึ้นอยู่กับซัพพลายเออร์เป็นผู้กำหนด แต่ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาถือว่าเป็นผลดีต่อผู้บริโภคคนไทย เนื่องจากราคาอาหารยังคงอยู่ในระดับเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปัจจุบันประ มาณ 35-40 บาทต่อจาน
ด้านต้นทุนผู้ประกอบการร้านอาหารในขณะนี้ โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 4 แสนรายทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเอสเอ็มอี 3 แสนราย ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ราคาขายยังเท่าเดิม.