WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'ส่งท้ายปีเก่า-เดินหน้าปีใหม่' เทรนด์สื่อยุคใหม่ อนาคตที่ต้องปรับตัว

มติชนออนไลน์ :  


ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่ต้องการความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว และการโต้ตอบ ยุคที่บางเรื่อง บางสถานการณ์กลายเป็นประเด็นทางสังคม

ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหรือผู้รับสาร ทำให้ "สื่อ" ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์จึงต้องปรับตัวและทำการบ้านให้มากขึ้น

ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองปรากฏการณ์ด้านสื่อในปีที่ผ่านมาของประเทศไทยว่ากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิตอล

ดร.ฉลองรัฐอธิบายว่า อัตราการเติบโตของสื่อทั่วโลก สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่เติบโตสูงที่สุด ดังนั้นในอนาคตไม่ว่าสื่อประเภทใดจะต้องแปลงตัวให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล ในรูปแบบการออนไลน์ 

สื่อวิทยุ อีก 1-2 ปีน่าจะปรับเป็นวิทยุดิจิตอลทั้งหมด 

ส่วนหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวเข้าสู่สื่อออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของคนปัจจุบันชอบอ่านผ่านหน้าจอ ชอบดูรูปภาพ ชอบดูภาพเคลื่อนไหว และแสดงความคิดเห็นโต้ตอบ

"การเข้ามาของระบบใหม่ สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่ได้ต้องปรับตัวและสร้างสื่ออื่นประกอบ เพราะความเป็นดิจิตอลก็ไม่ได้ทำให้งานกระดาษล้มหายตายจาก ยังมีคนอีกกลุ่มที่ชอบอ่านงานจากกระดาษอยู่ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่ชอบความเป็นดิจิตอลมากกว่า แต่ต้องปรับตัวไปด้วยกัน จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มเน้นการทำสื่อดิจิตอล หรือเปิดช่องข่าวทางทีวีเพิ่มขึ้น เป็นการปรับตัวเชื่อมโยงกับดิจิตอล" 

"แต่มีข้อควรระวังคือ ความเป็นดิจิตอลหรือออนไลน์เป็นสื่อที่แพร่กระจายเร็ว และคนเสพสื่อมีความนิยมที่จะส่งต่อ สื่อมวลชนเองต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล ต้องมีการตรวจสอบ ส่วนผู้รับสาร ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะส่งเสริมให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อมากขึ้น ให้รู้เท่าทันสื่อ" ดร.ฉลองรัฐบอก และว่า ส่วนสื่อประเภทวิทยุจะมีความนิยมลดลงมากที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด และจะลดลงมากขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่ก็ไม่ได้หายไปและจำเป็นอยู่ในบางพื้นที่ เช่น วิทยุชุมชน ที่บางแห่งมีบทบาทสำคัญกับสังคมอยู่ ส่วนวิทยุหลักหรือวิทยุเชิงพาณิชย์จะทยอยลดลงเรื่อยๆ

ส่วนสื่อประเภททีวีดิจิตอล ดร.ฉลองรัฐบอกว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ามีปรากฏการณ์ที่สำคัญ 2 เรื่อง

เรื่องแรก "ความหลากหลาย" มีการประมูลคลื่นทีวีดิจิตอล ทำให้มีคลื่นเพิ่มขึ้น ประชาชนมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น จำนวนช่องมากก็จริง แต่ตัวรายการที่แปลกใหม่และน่าสนใจจริงๆ ไม่ได้มีเยอะขึ้น บางช่องก็นำรายการเก่ามาฉายใหม่หรือมีการฉายซ้ำ 

"ความหลากหลายมีผลเชิงเศรษฐกิจ จากเม็ดเงินโฆษณากระจายไปหลายช่องมากขึ้น อาจทำให้บางช่องประสบปัญหาโฆษณาไม่เข้า ดังนั้น แต่ละช่องจึงพยายามแข่งขันผลิตรายการให้มากขึ้น เราจึงได้เห็นเนื้อหารายการที่เน้นการขายสินค้าเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามา บางครั้งก็ทำให้ขาดการควบคุมตรวจสอบตัวเองว่ารายการที่เหมาะสมควรจะออกอากาศเป็นอย่างไร" ดร.ฉลองรัฐกล่าว

และว่า นอกจากนี้ จะมีรายการบางประเภทที่ทำง่าย ผลิตง่าย และสามารถดึงดูดโฆษณาได้ปรากฏให้เห็นจำนวนมากขึ้น เช่น รายการประเภทส่งเสริมลัทธิ ไสยศาสตร์ ความเชื่อ ซึ่งทำให้เกิดบุคคลบางประเภทที่มีจิตพิเศษ มองเห็นกรรม มองเห็นอนาคต มาเป็นดาราหลักของช่อง 

เรื่องที่สอง "การรวมศูนย์" ปรากฏการณ์ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลพิเศษเข้ามา กำหนดนโยบายการเผยแพร่ของสื่อ ทำให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีความระมัดระวังในการนำเสนอ การเผยแพร่ข้อมูลและแสดงความเห็นมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบนโยบายของรัฐ แต่จะเห็นรายการอย่าง ปฏิรูปประเทศไทย ที่อาจจะมีเนื้อบางอย่างที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อภาครัฐ รายการจึงต้องปรับตัว

ขณะเดียวกันภาครัฐมองเห็นศักยภาพของสื่อ ใช้สื่อเพื่อรณรงค์อุดมการณ์สร้างชาติ มีความพยายามยุบกระทรวงไอซีที มีความพยายามจะนำ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาผนวกเป็นกระทรวงใหม่ 

"หมายความว่ามีความพยายามจะดึงเรื่องการการควบคุมนโยบายสื่อมาอยู่ในความดูแลของรัฐ ตรงนี้สะท้อนทฤษฎี 2 เรื่อง คือ ทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนาประเทศ คือสื่อจะต้องยอมลดบทบาทอิสรภาพตัวเองเพื่อร่วมพัฒนาประเทศกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งจะขัดกับ ทฤษฎีสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตย ที่เน้นการกระจายนโยบายสื่อสู่ประชาชน" ดร.ฉลองรัฐอธิบาย 

สรุปได้ว่า ปรากฏการณ์ทั้ง 2 เรื่องเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตสื่อทีวีดิจิตอลหรือเทรนด์สื่อเมืองไทยแน่นอน

ด้าน ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย บอกว่า ในปี 2015 เทรนด์การรับสื่อของผู้บริโภคจะเเบ่งออกตามลักษณะเฉพาะเเละความต้องการของตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยคนในสังคมไทยจะมีการเเบ่งการรับสื่ออย่างมีรายละเอียดมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากสื่อมีความหลากหลายเเละมีความสามารถในการเข้าถึงตัวผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง 

แต่ขณะเดียวกันความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคที่มากขึ้นของผู้ผลิตก็จะมาพร้อมกับ อำนาจที่มากขึ้นของตัวผู้รับสื่อหรือตัวผู้บริโภคเอง คือจะมีความสามารถในการเปิดเเละปิดรับสื่อมากกว่าเดิม จากอดีตที่สื่อมีความสามารถควบคุม ครอบงำ มีพลังเหนือผู้บริโภค

"แน่นอนว่าสื่อจะพัฒนาความสามารถเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น แต่ความมีอิทธิพลของสื่อจะน้อยลง เนื่องจากผู้บริโภคจะมีพลังและความสามารถในการเจาะจงเลือกรับสื่อตามรสนิยมและความชอบของตัวเองมากกว่าเดิม ซึ่งน่าจะเป็นอะไรที่ตรงใจผู้บริโภค" ผศ.ดร.ทัณฑกานต์กล่าว และว่า สำหรับสื่อที่สร้างสรรค์เนื้อหาหรือหาเเนวทางเอาชนะใจผู้บริโภคไม่ได้จะล้มหายไป ฉะนั้นสื่อจำเป็นต้องหาอัตลักษณ์เเละหากลุ่มผู้บริโภคของตัวเองที่ชัดเจนให้เจอ

ประเด็น "ดิจิตอลทีวี" นายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเห็นว่า จะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นเฉกเช่นในปีที่ผ่านมา แต่จะเริ่มชัดเจนว่า "ใครรอด ใครไม่รอด"

"24 ช่องขณะนี้ก็ยังนับว่าล้นตลาดกว่าที่ผู้บริโภคจะรับไหว ยิ่งเมื่อรวมกับเคเบิล จานดาวเทียมต่างๆ ด้วยแล้ว นับว่ามากเกินไป ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นแล้วว่ามีจำนวนไม่ถึงครึ่งที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่กว่าครึ่งขาดทุนและโยนเงินทิ้งในทุกๆ นาที อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังสามารถหาหนทางประคับประคองเอาตัวรอดได้ อย่างการจับมือลงทุนร่วมกันกับสื่อแขนงอื่นๆ"

สำหรับกลุ่มช่องที่ผงาดและสร้างความนิยมได้ในปีที่ผ่านมา ปี 2015 ก็จะก้าวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นช่องหลักได้เหมือนที่ทีวีอนาล็อกเคยมีอิทธิพลต่อผู้ชม ซึ่งมาจากความสามารถของผู้ชมที่พร้อมรับมากขึ้นนั่นเอง โดยเฉพาะกลุ่ม HD หากผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความสามารถในการนำเสนอและการรับชมอย่างเต็มประสิทธิภาพพร้อมๆ กันเมื่อไหร่ กลุ่มนี้น่าจะครองตลาดได้มากขึ้น และมีอิทธิพลตรึงคนดูได้กว่าที่อนาล็อกเคยทำได้เสียอีก

อนาคต "สื่อดิจิตอล" ในประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางไหนยังเป็นเรื่องน่าจับตา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!