- Details
- Category: การตลาด
- Published: Friday, 28 November 2014 22:37
- Hits: 2805
'สิงห์'ผนึก'มารุเซ็น'รุกธุรกิจชาเขียว
ไทยโพสต์ : เชียงราย * 'สิงห์'ฟิตจัด จับมือมารุเซ็นผู้ผลิตชาเขียวจากประเทศญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นฐานส่งออก บุกกลุ่มตลาดฟู้ดเซอร์วิส รับเทรนด์การขยายตัวร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก ตั้งเป้ารายได้ 3 ปีแรกทะลุ 1,000 ล้านบาท
นายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ในตอนนี้บุญรอดฟาร์ม บริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ ได้ทำการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ มารุเซ็น ที เจแปน โดยเป็นบริษัทผลิตชารายใหญ่จากประ เทศญี่ปุ่น เพื่อทำการจัดตั้งบริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ไทยแลนด์) ภายใต้ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นของบุญรอดฟาร์มได้ 51% และที่เหลือเป็นของพันธมิตรมารุเซ็นอีก 49%
สำหรับ เป้าหมายหลักของการดำเนินธุรกิจของบริษัท ภายหลังจากที่ได้ลงทุนสร้างโรงงานการผลิตชาที่ไร่บุญรอดภายใต้งบประมาณกว่า 140 ล้านบาท และปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 140 ล้านตันต่อปี บริษัทจะทำการผลิตชาเขียวภายใต้แบรนด์มารุเซ็น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้ากลุ่มชาเขียวใบ สินค้า กลุ่มชาเขียวชนิดซอง และสินค้ากลุ่มชาเขียวผง เพื่อทำตลาดทั้งในประเทศไทย พร้อมทั้งขยายไปยังต่างประเทศ เน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าในแบบฟู้ดเซอร์วิสเป็นหลัก รวมถึงกลุ่มรีเทลหรือค้าปลีก โดยการร่วมมือทางธุรกิจกันในครั้งนี้ ถือเป็นการผลิตชา นอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของทางมารุเซ็นอีกด้วย
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัท จะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า โดยตอนนี้ได้มีการพูดคุยกับลูกค้าบางรายที่สนใจนำสินค้าของบริษัทไปทำตลาด ส่วนมากจะต่อยอดมาจากกลุ่มลูกค้าเดิมของบุญรอดฟาร์ม โดยตั้งเป้าว่ายอดขายใน ปีแรกจะอยู่ที่ 350 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากฟู้ดเซอร์ วิส 70-80% ที่เหลืออีก 20-30% เป็นรายได้ที่มาจากรีเทล พร้อมมองหาโอกาสธุรกิจอื่นที่จะขยายต่อไปภายใต้การดำเนินงานของบริษัท อาทิ ธุรกิจกาแฟ
ด้านนายคาสึโทชิ ฟุรุฮาชิ กรรมการ บริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางมารุเซ็นจะทำตลาดหรือจำหน่ายสินค้าแค่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นในจังหวัดชิซุโอกะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชาเขียวที่ใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ในเมืองไทยจะเป็นการทำตลาดในกลุ่มของฟู้ดเซอร์วิส เบื้องต้นจะใช้ไทยส่งออกไปยังฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เยอรมนี โดยตลาดชาในเมืองไทยก็ค่อนข้างใหญ่ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันมารุเซ็นยังมองว่าเมืองไทยสามารถเป็นจุดศูนย์กลางที่เหมาะสมแก่การส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย.