- Details
- Category: การตลาด
- Published: Tuesday, 28 October 2014 20:44
- Hits: 2313
ยันฮี ทุ่ม 50 ล. ตั้งศูนย์เสริมสร้างเต้านมครบวงจรคืนความภูมิใจให้สตรีที่ถูกตัดหน้าอกจากมะเร็งเต้านม
บ้านเมือง : รพ.ยันฮี ทุ่มงบประมาณ 50 ล้าน เปิดศูนย์เสริมสร้างเต้านมครบวงจร หวังคืนความภูมิใจให้สตรีที่ถูกตัดหน้าอกจากมะเร็งเต้านมให้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุข เพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคม คาดว่าในระยะเวลา 5 ปีจะมีรายได้จากศูนย์ฯ 50 ล้านบาท เตรียมแผนพร้อมให้บริการหลังเปิด AEC
น.พ.สุธน พิศูทธินุศาสตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า รพ.มีนโยบายการเปิดศูนย์เสริมสร้างเต้านมครบวงจร เนื่องจากเล็งเห็นว่า สตรีที่มีปัญหาเรื่องการผ่าตัดมะเร็งเต้านมไปแล้วมีเป็นจำนวนมาก และมีความทุกข์ใจกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะหน้าอกเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นผู้หญิง ดังนั้นการเปิดศูนย์เสริมสร้างเต้านมจึงเป็นโอกาสให้กับสตรีได้กลับมามีหน้าอกใหม่ที่สมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งการผ่าตัดรักษาของ รพ.ยันฮี จะรักษาโดยทีมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งและทีมแพทย์ศัลยกรรมทั่วไปของโรงพยาบาล ทั้งนี้ ศูนย์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ โดยใช้งบประมาณในการเปิดศูนย์ฯ 50 ล้านบาท
"มะเร็งเต้านม ถือเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยสตรีมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นเป้าหมายของการเปิดศูนย์เสริมสร้างเต้านมในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาเรื่องการผ่าตัดมะเร็งเต้านม ดังนั้นการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่หลังการผ่าตัดมะเร็งออกไปแล้ว จึงถือเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความมั่นใจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น" น.พ.สุธน กล่าว
สำหรับ เป้าหมายรายได้จากการเปิดศูนย์มะเร็งเต้านมในครั้งนี้ รพ.เชื่อมั่นว่าจะมีรายได้จากศูนย์ฯ นี้อย่างน้อยปีละ 10 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะสามารถทำรายได้ให้กับโรงพยาบาลได้ถึง 50 ล้านบาท
น.พ.สุธน กล่าวว่า สำหรับการผ่าตัดนั้น มีด้วยกัน 2 วิธีคือ 1.การทำทันทีพร้อมกับตัดเต้านม ซึ่งจะเป็นแผลเดียวกับที่ผ่ามะเร็งออกไป และ 2.ทำภายหลังการตัดเต้านม เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องรอติดตามผลจนแน่ใจว่ามะเร็งเต้านมไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ส่วนเทคนิคการผ่าตัดนั้นมีด้วยกัน 2 วิธี คือ 1.การผ่าตัดสร้างเต้านม โดยใช้ถุงนมเทียมที่ทำจากซิลิโคน และอีกวิธีคือ การผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง เช่น เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง หรือกล้ามเนื้อหลัง
"ศูนย์เสริมสร้างเต้านมของ รพ.ยันฮี เป็นการรวมแพทย์เฉพาะทางที่มาจากแพทย์ศัลยกรรมทั่วไป และแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งผลจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่พร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งออกนั้น ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ การหายจากการเป็นมะเร็งหรือการดำเนินของโรค เพียงแต่ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเช็คหลังการผ่าตัดเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด" น.พ.สุธน กล่าว
สำหรับ แผนงานในอนาคตของโรงพยาบาลยันฮี เมื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) น.พ.สุธน กล่าวว่า ทาง รพ.ได้เตรียมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้ 1.ขยายพื้นที่การรักษา โดยในอีก 2 ปีจะเปิดอาคาร Inter 3 เพิ่มขึ้นอีก 1 อาคาร ใช้งบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท 2.การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง และ 3.การพัฒนาช่องทางการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อ Social network เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น