- Details
- Category: การตลาด
- Published: Sunday, 19 August 2018 15:04
- Hits: 11456
มองตลาดค้าปลีกไทยในช่วง 30 ปี
พื้นที่ค้าปลีกเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีความซับซ้อนในการพัฒนามากที่สุดประเภทหนึ่ง เนื่องจากรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ตลาดพื้นที่ค้าปลีกของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ซีบีอาร์อีเปิดสำนักงานในกรุงเทพมหานคร และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ คือการมีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเพียงไม่กี่แห่ง เช่น เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว ที่สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2525 อัมรินทร์พลาซ่า ในปีพ.ศ. 2528 และสยามเซ็นเตอร์ ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 ในขณะที่พื้นที่ค้าปลีกอื่นๆ คือ อาคารพาณิชย์และตลาดสด
จากการสำรวจโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่ค้าปลีกรุ่นใหม่เกือบ 7.5 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นศูนย์การค้า 46.5% ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 17.7% ห้างสรรพสินค้า 15.1% คอมมูนิตี้มอลล์ 14.5% และพื้นที่ค้าปลีกอื่นๆ อีก 16.1% โดยที่ผ่านมามีการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านรูปแบบพื้นที่ค้าปลีกและประเภทของผู้เช่า
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการย้ายจากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมในตลาดสดและร้านค้าในอาคารพาณิชย์ไปสู่พื้นที่ค้าปลีกที่ทันสมัย ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อและคอมมูนิตี้มอลล์ไปจนถึงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ท้องถิ่นอย่างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต
รูปแบบพื้นที่ปลีกรุ่นใหม่ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย โดยหลายเมืองในต่างจังหวัดจะมีศูนย์การค้าที่ทันสมัยตั้งอยู่ ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แห่งแรกในประเทศไทยเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2532 และในปีพ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 10,268 สาขา ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่แห่งแรก คือ แม็คโคร ลาดพร้าว ตั้งอยู่ในเขตบางกะปิ เปิดให้บริการเมื่อปีพ.ศ. 2532 ในปัจจุบันบิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร มีสาขารวมกันมากกว่า 450 แห่งในประเทศไทย
ตลาดค้าปลีกไทยก็เหมือนกับที่อื่นๆ ในโลกที่เผชิญกับความท้าทายใหม่จากอี-คอมเมิร์ซ ในสหราชอาณาจักร เป็นที่คาดการณ์ว่ายอดขายอี-คอมเมิร์ซจะสูงถึง 18% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมดในปีพ.ศ. 2561 และอยู่ที่ระดับ 9.5% สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา
ในประเทศไทย ยอดขายอี-คอมเมิร์ซยังไม่ถึง 1% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ แต่คาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการที่รูปแบบและโครงสร้างพื้นฐานของอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งได้แก่ ระบบการชำระเงิน และการจัดจำหน่ายได้รับการพัฒนาขึ้นมาแล้ว
ร้านค้าปลีกเองก็จะต้องปรับตัวเพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุดทั้งในร้านค้าและบนออนไลน์ ด้านผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกก็จะต้องสร้างประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นผ่านการออกแบบตกแต่งพื้นที่ การจัดกิจกรรม การมีผู้เช่าที่หลากหลาย และการบริการลูกค้า
เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งร้านค้าปลีกออนไลน์ไม่สามารถทำได้ เช่น การจัดสรรพื้นที่สำหรับร้านค้าแบบป็อปอัพ และแบ่งปันข้อมูลกับผู้เช่าพื้นที่เพื่อปรับปรุงในด้านการตลาด
'ออนไลน์' จะไม่แทนที่'ร้านค้า'ทั้งหมด แต่จะทำให้ร้านค้าปลีกและผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกต้องปรับตัว “แค่การสร้างอาคารให้ดูสวยงามและใส่ร้านค้าแบรนด์ดังเข้าไปจะไม่ได้ผลอีกต่อไป” นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีกของซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว "ร้านค้าปลีกหลายรายพยายามที่จะใช้ Omni-Channel เข้ามาช่วยโดยใช้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ผนวกรวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทั้งบนโลกออนไลน์และหน้าร้านส่งเสริมซึ่งกันและกัน"
การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคหมายความว่า การพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกมีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาพื้นที่สำนักงาน จำเป็นต้องอาศัยการบริหารงานอย่างมีประสบการณ์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้บริโภคและผู้เช่าเป็นประจำเพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ความมุ่งมั่นทุ่มเทและความเชี่ยวชาญจำเป็นต้องอยู่ในระดับที่สูงมาก และแตกต่างจากโรงแรมตรงที่การหาผู้เชี่ยวชาญที่รับบริหารพื้นที่ค้าปลีกในไทยนั้นแทบจะไม่มี
แม้ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น ร้านค้าปลีก เจ้าของพื้นที่ค้าปลีก และผู้พัฒนาโครงการยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเกิดจากอี-คอมเมิร์ซ
“ศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและจะไม่หายไปไหน แต่การแข่งขันกับอี-คอมเมิร์ซทำให้ต้องมีการวิวัฒนาการรูปแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้”นางสาวจริยากล่าวสรุป
เปิดมุมมองผู้บริหารห้าง เจาะลึกกำลังซื้อครึ่งปีหลัง
รายงานพิเศษ https://www.khaosod.co.th/economics/news_1342949
เปิดมุมมองผู้บริหารห้าง – การที่หลายภาคส่วนปรับประมาณการ จีดีพีของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้นั้น
มีเหตุที่เป็นนัยยะสำคัญจากครึ่งปีแรก ด้วยแรงส่งของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างภาคการส่งออกที่ 5 เดือนแรกเติบโต 11% และการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง 13% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี
ส่งผลให้อุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวตามมา ทั้งการบริโภคและการลงทุน ทำให้ต่างเชื่อว่าจะเห็นกลับมาชัดเจนในครึ่งปีหลังนี้
ภาคเอกชนที่เป็นเครื่องมือวัดการลงทุนและการบริโภค อย่างภาคค้าปลีกจะ เชื่อมั่นในครึ่งหลังของปีอย่างไรนั้น
ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ 'เทสโก้ โลตัส'นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี และคาดว่าจะดีต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มาจากการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
บริษัทยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผน โดยงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2561 ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มสาขาใหม่ตั้งเป้าขยายพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มประมาณ 6 แสนตารางฟุต หรืออีก 40% เน้นร้าน เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ในทำเลอำเภอรองที่ยังขาดร้านค้าปลีกอยู่
ด้าน นายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริหารสินค้า'เดอะมอลล์'กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้นตั้งแต่หลังเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจที่จะจับจ่าย
“เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว จาก 2 เซ็กเตอร์คือ การท่องเที่ยว และการส่งออก ส่งผลดีต่อกำลังซื้อระดับบนก่อน และยังขยายตัวดีต่อเนื่องถึงปีนี้จึงจะเห็นผลต่อระดับล่าง จึงเชื่อว่ากำลังซื้อกลุ่มระดับล่างจะดีขึ้นชัดๆ ในปลายปีนี้”
ขณะที่ น.ส.ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการด้าน ส่งเสริมการตลาด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานกิจกรรมการตลาด และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยาม พารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง ผู้บริโภคกำลังซื้อดีขึ้นแน่นอน และพร้อมที่จะใช้จ่ายในสิ่งที่พึงใจ ซึ่งสินค้าลักชัวรี่คือหนึ่งในนั้น
เห็นได้จากผลสำรวจของงานวิจัยต่างๆ พบว่าสินค้าลักชัวรี่ในปัจจุบันที่คนไทยนิยมซื้อสูงสุดคือนาฬิกา ที่มีสัดส่วนมากถึง 21% รองลงมาคือเสื้อผ้าแบรนด์เนม 17% และสินค้ากลุ่มสกินแคร์ 14% โดยเหตุผลการซื้อสินค้าลักชัวรี่ของคนไทยคือ ซื้อเพื่อให้รางวัลตัวเองเป็นส่วนใหญ่ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเรื่องของโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย
ความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้สยามพิวรรธน์ เตรียม เปิดเมกะโปรเจ็กต์ที่ร่วมกับบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับโครงการยักษ์ “ไอคอนสยาม” ในเดือนต.ค.นี้ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมูลค่า 54,000 ล้านบาท
นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า เชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่แข็งแรง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐในเมกะโปรเจ็กต์ และการขยายตัวดีต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น
จึงมั่นใจการลงทุนที่เตรียมจะเปิดเซ็นทรัล ภูเก็ต ในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นโครงการชูธงในปี 2561 และจะเป็นแฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรับการเติบโตของประชากรและนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน
ค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล น.ส.ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ผู้บริหารเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ เผยว่า กำลังซื้อ ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปทั้งปี
แผนการลงทุนจะเปิดท็อปส์พลาซ่าเพิ่มอีก 2 สาขา คือ จ.สิงห์บุรี และอีก 1 จังหวัดในภาคอีสาน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจังหวัดที่มีความเหมาะสม ในส่วนของท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ ก็มีแผนจะขยายร้านใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 สาขาเช่นกัน จากปัจจุบันมี 7 สาขา เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น
ส่วนอีกหนึ่งเซ็กเตอร์ที่จะมาสะท้อนภาพใหญ่ของกำลังซื้อผู้บริโภค 'เครือสหพัฒน์' ประธานใหญ่ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ได้กล่าวไว้ว่า ภาพรวมกำลังซื้อในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาของปีนี้ฟื้นตัวเล็กน้อย และน่าจะต่อเนื่องไปจนถึง 6 เดือนที่เหลือ แต่กำลังซื้อระดับล่างยังไม่ฟื้นตัวนัก
เครือสหพัฒน์ 6 เดือนแรก ยอดขายเติบโตเพียง 1-2% เพราะสินค้ากลุ่มแฟชั่นเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งสินค้าบางแบรนด์ของเครือติดลบถึง 10% แต่สินค้าในกลุ่มอาหารและสินค้า ที่ใช้ประจำวันยังเติบโต ดังนั้นทั้งปีน่าจะเติบโตได้ 1-2% เช่นกัน ถือว่าโดยรวม ดีกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มียอดขายทรงตัว
“กำลังซื้อระดับล่างขาดเงินซื้อของ แต่ไม่ถึงยากจนไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อของ ที่จำเป็น โดยหวังว่าในปีหน้าจะดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น การส่งออกไทย จะดีขึ้น หลังจากเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ ซึ่งจะทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนมากขึ้น”
สำหรับ บริษัทในเครือ บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ และทิศทางราคาพืชผล จากครึ่งปีแรกของปีนี้กำลังซื้อระดับล่างยังไม่ดีขึ้น และราคาพืชผลที่ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่ารัฐบาลได้มีนโยบายต่างๆ ออกมากระตุ้น แต่ต้องใช้เวลา
โดยเฉพาะนโยบายโครงการประชารัฐ ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน และกระตุ้นกำลังซื้อระดับล่างได้ ซึ่งยังไม่เห็นผลในทันที ต้องใช้ระยะเวลา
อย่างไรก็ดี ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดย จริยา จิราธิวัฒน์ ประธาน ให้มุมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจ โดยรวมที่ชะลอตัวในช่วงขาลงมาอย่างยาวนานนั้น ผ่านจุดต่ำสุดของช่วงขาลง และทรงตัวไปแล้ว ตอนนี้กำลังปรับตัวเป็นแนวโน้มขาขึ้นอย่างช้าๆ
ถ้าหากตัวแปรเศรษฐกิจ การเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และราคาสินค้าเกษตร อยู่ในช่วง ขาขึ้นยาวนานสักระยะ การกระจายตัวของเศรษฐกิจ ก็จะสามารถคลี่คลายลงสู่ฐานรากได้ทุกภาค โดย น่าจะส่งผลให้กำลังซื้อรากหญ้าฟื้นตัวขึ้นอย่าง ชัดเจนในช่วงไตรมาสที่สองต่อไตรมาสที่สามของ ปี 2562
ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างที่คาดไว้หรือไม่ ดูแล้วบรรดาผู้ประกอบการเอกชนก็ยังออกแรงกระตุ้นกันอย่างหนักต่อไป...