- Details
- Category: การตลาด
- Published: Sunday, 05 August 2018 21:19
- Hits: 11094
ค้าปลีก แนะรัฐเปิดดิวตี้ฟรี ซิตี้แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทย
แนวหน้า : นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคม ผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่าภาพรวมของภาคธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีแรกค่อนข้างคงที่ในทุกหมวดสินค้า และกระจุกตัวที่เฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักๆ ของการท่องเที่ยว ส่วนสาขา ที่อยู่ในต่างจังหวัด การเติบโตของกำลังซื้อ ค่อนข้างอ่อนตัว เนื่องจากสัดส่วนสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนเพียง 30% ขณะที่สาขาส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดถึง 70% ทำให้ดัชนีในไตรมาสที่สอง โดยรวมทรงตัว สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อในต่างจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพฯและหัวเมืองหลักๆ ของการท่องเที่ยว) ยังไม่มากเท่าที่ควรโดยเฉพาะจังหวัดที่รายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรม
สำหรับ ครึ่งปีหลังน่าจะยังทรงตัวในไตรมาสที่สาม และดีดตัวขึ้นไปในไตรมาสที่สี่ตามวัฏจักรของการจับจ่าย แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลมายัง ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลา 6-8 เดือน อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2561 น่าจะดีกว่า ปีก่อนโดยคาดว่าจะเติบโต 3.3-3.5% แต่ก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 4.5%
ทางสมาคมมีข้อเสนอแนะภาครัฐ 6 ข้อ มีดังนี้ 1.ขอให้ภาครัฐผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ของนักท่องเที่ยว สร้างให้การช็อปปิ้งเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย
2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช็อปปิ้ง ภาครัฐจะต้องพิจารณาการเปิดเสรีร้านค้า ปลอดภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองให้มากขึ้น
3. ภาครัฐจะต้องเร่งรัดโครงการ Downtown VAT Refund For Tourist โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการได้รับคืนภาษีทันทีเมื่อซื้อสินค้า
4. รัฐต้องสร้างกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในแนวทางใหม่และหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพภายใต้สังคมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่ภูมิภาคและจังหวัดรอง
5. ในด้านการค้าชายแดน ภาครัฐต้องผลักดันและอำนวยความสะดวกทางการค้า ให้ภาคค้าปลีก ค้าส่งสามารถขยายสาขาในบริเวณพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นฐานในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค
6.ปัจจุบันกลุ่มค้าปลีกมีความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงาน รายชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ บุคคลหลังเกษียณ ที่ไม่มีรายได้แต่ยังมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งคนกลุ่มนี้ ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมง จึงเหมาะสมที่จะจ้างเป็นรายชั่วโมง ภาครัฐต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้จ้างงานบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้
"ภาคค้าปลีกมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องยอดเม็ดเงินการลงทุนจากปี 2558-2560 อยู่ที่ 130,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 43,400 ล้านบาท) นับเป็นอัตราที่สูงมากและสูงกว่า การก่อสร้าง BTS (123,300 ล้านบาท) หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz (76,000 ล้านบาท) การลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 210,000 คนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 150,000 คน" นางสาวจริยากล่าว