- Details
- Category: การตลาด
- Published: Thursday, 19 July 2018 07:14
- Hits: 3840
ธุรกิจร้านกาแฟสร้างจุดขายชูคุณภาพกาแฟ บาริสต้า ชิงตลาด 17,000 ล้าน
ด้าน ยูบีเอ็ม เอเซีย จับมือ สมาคมบาริสต้าไทย พัฒนาทักษะบาริสต้าไทย จัดแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟ และ การสร้างสรรค์เครื่องดื่มจากกาแฟ หาตัวแทนแข่งระดับโลก
ธุรกิจร้านกาแฟโตต่อเนื่องมูลค่าพุ่งกว่า 17,000 ล้านบาท ส่งผลผู้ประกอบการให้ความสำคัญคุณภาพกาแฟ และ ความสามารถบาริสต้าหวังใช้เป็นจุดขาย ล่าสุด ยูบีเอ็ม เอเซีย จับมือ สมาคมบาริสต้าไทย จัดการแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟ 2019 (Thailand National Latte Art Championship (TNLAC) 2019) และการแข่งขันการสร้างสรรค์เครื่องดื่มจากกาแฟ 2019 (Thailand National Coffee in Good Spirits Championship (TNCIGS) 2019) ในงานฟู้ดแอนด์โฮเทล ไทยแลนด์ 2018เพื่อพัฒนาความสามารถบาริสต้าไทย พร้อมหาตัวแทนเข้าแข่งขันระดับโลก หวังสร้างแชมป์โลกคนที่สอง
นายจัสติน พาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟว่า ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจร้านกาแฟพุ่งขึ้นสูงถึง 17,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 15-20% จากปัจจัยสำคัญคือ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนไทย โดยอัตราเฉลี่ยในการบริโภคกาแฟของคนไทยอยู่ที่ปีละ 300 แก้ว/คน/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เมื่อเทียบกับปริมาณการบริโภคกาแฟจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่นที่บริโภคกาแฟเฉลี่ยอยู่ที่ 400 แก้ว/คน/ปี ยุโรปบริโภคกาแฟเฉลี่ยอยู่ที่ 600 แก้ว/คน/ปี หรือ ฟินแลนด์บริโภคกาแฟเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 แก้ว/คน/ปี
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ละร้านต้องสร้างจุดเด่นและความแตกต่างเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งนอกจากการออกแบบและตกแต่งร้านแล้ว ยังมีการนำเสนอถึงคุณภาพของกาแฟและความสามารถของบาริสต้าควบคู่ไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกลุ่มผู้ดื่มกาแฟรุ่นใหม่ให้ความใส่ใจกับรสชาติและคุณภาพของกาแฟมากขึ้น โดยการชงกาแฟให้ได้รสชาติและคุณภาพดีนั้น ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความสามารถของบาริสต้า ซึ่งต้องใส่ใจตั้งแต่การเลือกเมล็ดกาแฟ วิธีการชงกาแฟ และ การสร้างสรรค์เมนูกาแฟให้เป็นที่ถูกใจลูกค้า โดยในหลายปีที่ผ่านมาต้องถือว่าบาริต้าไทยมีการพัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ สามารถคว้าตำแหน่งแชมป์โลก ลาเต้อาร์ต มาเป็นชาติแรกของอาเซียนได้อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาความสามารถของบาริสต้าไทยให้เพิ่มสูงขึ้น ยูบีเอ็ม เอเชีย ผู้จัดงานฟู้ดแอนด์โฮเทล ไทยแลนด์ 2018 งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับโรงแรม ภัตตาคาร การจัดเลี้ยง และ การบริการนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับ สมาคมบาริสต้า จัดการแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟ 2019 และ การแข่งขันการสร้างสรรค์เครื่องดื่มจากกาแฟ 2019 ขึ้น เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการเข้าแข่งขันในระดับโลกต่อไป
ซึ่งการแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟนั้น เป็นการแข่งขันศิลปะโฟมนมบนถ้วยกาแฟที่ท้าทาย เพราะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะเฉพาะตัวในการสร้างลวดลาย ด้วยการเทลายลาเต้อาร์ตที่ใช้เพียงอุปกรณ์พิชเชอร์และถ้วยกาแฟเท่านั้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเทลายทั้งในรูปแบบไม่ใช้อุปกรณ์เพิ่ม (Free-Pour Lattes) และ การเทรูปแบบใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมและสี (Designer Lattes) ซึ่งคณะกรรมการจะตัดสินจากลักษณะภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความคมชัด และความเหมือนกันของลายในถ้วยกาแฟที่นำเสนอ
ส่วนการแข่งขันการสร้างสรรค์เครื่องดื่มจากกาแฟ เป็นการแข่งขันรายการใหม่ครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะเน้นทักษะการผสมผสานกาแฟกับส่วนผสมอื่นให้เกิดเป็นเมนูเครื่องดื่มที่ลงตัว สามารถนำเสนอได้ทั้งในรูปแบบร้อน อุ่น และ เย็น ซึ่งการตัดสินคณะกรรมการจะพิจารณาจากทักษะการทำกาแฟ รสชาติที่สร้างสรรค์ ความลงตัวของเครื่องดื่ม และ รูปแบบการนำเสนอ
โดยผู้ชนะการแข่งขันทั้งสองรายการจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันในเวที World Latte Art Championship (WLAC) 2019 และ เวที World Coffee in Good Spirits Championship (WCIGS) 2019 ซึ่งผู้จัดการแข่งขันฯ มีความมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะใช้เวทีระดับโลกสร้างชื่อเสียงให้แก่บาริสต้า ธุรกิจกาแฟ และ อุตสาหกรรมกาแฟของไทย หลังจากเวทีนี้เคยส่งให้ อานนท์ ธิติประเสริฐ เป็นแชมป์โลก ลาเต้อาร์ต มาแล้ว เราจึงหวังว่าเวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งในการสร้างแชมป์โลกคนต่อไปให้กับประเทศไทย
สำหรับ การแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟ 2019 และ การแข่งขันการสร้างสรรค์เครื่องดื่มจากกาแฟ 2019 นั้น จะจัดขึ้นในงานฟู้ดแอนด์โฮเทล ไทยแลนด์ 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 8 กันยายน 2561 ณ ไบเทค บางนา ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันฯ สามารถสมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง 22 สิงหาคม 2561 เข้าดูข้อมูลและรายละเอียดการแข่งขันฯ ที่ คุณวิษณุ อีเมลล์ [email protected], [email protected] หรือ โทร 02 276 5170