- Details
- Category: การตลาด
- Published: Thursday, 25 January 2018 21:08
- Hits: 14803
'เชลล์' รวมพลังจัดงานเทศกาล Make the Future Thailand จัดเต็มสัมมนา-นวัตกรรมสุดยิ่งใหญ่เพื่ออนาคตประเทศไทย 2050
จบลงไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับงานเทศกาล Make the Future Thailand ที่จัดขึ้นโดยเชลล์ประเทศไทย นำโดย นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด มุ่งหวังเพื่อจุดประกายให้เกิดการพูดคุยและการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นความท้าทายมิติต่างๆ ที่จะมีผลต่ออนาคต อาทิ ด้านพลังงาน การวางผังเมือง การขนส่ง และเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงกระตุ้นให้คนไทยตระหนักว่าเราทุกคนมีบทบาทสำคัญและควรร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ ภายในงานมีครบทั้งงานสัมมนา นิทรรศการ การแสดง และมินิคอนเสิร์ต โดยจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ เมื่อวันที่ 19 – 21 มกราคมที่ผ่านมา
งานสัมมนา Powering Progress Together สุดยอดงานสัมมนาที่ได้รับเกียรติจากนักคิด นักปฏิบัติชื่อดังของเมืองไทยทั้ง 7 ท่าน ร่วมพูดคุยใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชีวิตประจำวัน นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อบ้านและเมือง และนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อพลังงานกับการขับเคลื่อนที่
ผู้นำความคิดทั้ง 7 ท่าน ได้แก่ นายไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ Google Thailand และ นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้บุกเบิกสตาร์ทอัพเมืองไทย ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และ ผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และนายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการและกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ในมุมมองของกระทรวงพลังงาน เราเห็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบสังคม เศรษฐกิจ และงานด้านพลังงาน ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ทุกประเทศทั่วโลกมีความตั้งใจที่จะ Go Green มากขึ้น โดยร่วมกันลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานที่มีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การที่จะ Go Green นั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะจะต้องมีการจัดผังเมือง จัดระบบขนส่ง และจัดรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ ประเด็นที่ 2 คือการก้าวเข้าสู่ยุค Digitization จะเห็นว่า IT เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราในทุกมิติ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยไม่รู้ตัว รวมถึงด้านพลังงานด้วย เช่นการใช้ machine learning เข้ามาทำงานในการจัดสรรระบบการกระจายไฟฟ้า หรือการจัดเก็บไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และนำมาใช้ในการกลางคืน เป็นต้น ผมมุ่งหวังให้สัมมนาในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายให้ทุกคนได้คิดต่อยอดใน 2 ประเด็นดังกล่าว ก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างมิติใหม่ด้านพลังงานในอนาคต”
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 ท่านได้ร่วมกันตอบคำถามแบบสำรวจความคิดเห็น พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่คิดว่ากรุงเทพฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นเมืองหลวงที่มีขนาดใหญ่และมีการกระจายตัว โดย 65% เห็นว่าการวางผังเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน และกว่า 70% มีความเห็นว่า 'ความร่วมมือ' เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี
นิทรรศการ Make the Future Thailand ประกอบด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมายที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นแนวทางสู่การสร้างอนาคตของบ้านอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต
นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด “เชลล์เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดถึงความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น และร่วมมือกันหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย การจัดงานเทศกาล Make the Future Thailand เพื่อให้ทุกคนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และมองเห็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ในการรับมือกับโจทย์ความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย และพลังงาน เป็นการจุดประกายให้ทุกคนเริ่มคิด และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิด และหาแนวทางร่วมกันในรับมือกับความท้าทายเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับประเทศเราอย่างแท้จริง”
ความท้าทายด้านพลังงานของเมืองในอนาคต ปี 2050 และทางเลือกในการใช้พลังงาน ในปี 2050 ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อความต้องการพื้นที่อยู่อาศัย ปัญหาการจัดการขยะหรือของเสียและความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น การแสวงหาพลังงานทดแทนเป็นวาระที่หลายฝ่ายได้ตระหนักถึงและให้ความสำคัญ ถึงแม้รัฐบาลส่งเสริมการนำขยะหรือของเสียมาแปรรูปเป็นพลังงานแต่มีศักยภาพทำได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งในอนาคตพลังงานสะอาดจะกลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งพลังงานทางเลือกแต่ละชนิดต่างมีข้อดีแตกต่างกัน
ทั้งนี้ เชลล์ได้พัฒนาและออกแบบแนวทางรับมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ไว้ 2 แนวทางคือ ด้านแรกสำหรับหาพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เชื้อเพลิงในการขนส่งมวลชนจะต้องพัฒนาพลังงานใหม่อย่างเชื้อเพลิงชีวมวลและไฮโดรเจนมาใช้เพื่อช่วยลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเชลล์มีการพัฒนาเทคโนโลยี Second Generation Ethanol (2GE) เพื่อให้ได้พลังงานเพิ่มมากขึ้น และเทคโนโลยีล่าสุด IH2 โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นน้ำมัน เพื่อลดปริมาณขยะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มปริมาณพลังงานทางเลือกอีกด้วย แนวทางที่ 2 คือการเพิ่มศักยภาพของพลังงานสะอาดให้มากขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานแสงอาทิตย์
ปั๊มน้ำมันแห่งอนาคต เมื่อมีทางเลือกในการใช้พลังงานที่หลากหลายมากขึ้น ความท้าทายของผู้ให้บริการเชื้อเพลิงในอนาคต คือจะต้องเตรียมพร้อมให้สามารถเป็นผู้ส่งต่อพลังงานทางเลือกรูปแบบต่างๆ ที่สะอาดมากขึ้นนำไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ปัจจุบันเชลล์ได้เริ่มต้นทดลองให้บริการพลังงานสะอาดเหล่านี้แล้วในยุโรป อาทิ พลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งมีข้อดีคือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้เวลาในการเติมพลังงานพอๆ กับการเติมน้ำมัน และไฮโดรเจน 1 ถัง สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 700 กม. และ Shell Charging Station สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มีให้บริการแล้วที่ประเทศอังกฤษ และกำลังขยายสถานีบริการไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ไม่ว่าพลังงานทางเลือกสำหรับประเทศไทยจะเป็นแบบไหน สถานีบริการเชลล์พร้อมที่จะมอบพลังงานให้ตามความต้องการของลูกค้า
แบบจำลองบ้านในอนาคต (Container of Possibilities) พัฒนาขึ้นจากแบบจำลองสถานการณ์ของทีมนักศึกษาประเทศสิงคโปร์ที่เข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future 2017 โดยมีแนวคิดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นจนพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยมีจำกัด ภายในบ้านเต็มไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การตรวจวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีความคุ้มค่ามากแค่ไหน หากอยู่ในระดับที่ใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็จะส่งรายงานให้ผู้ใช้ได้รับทราบ มีแดชบอร์ดสามารถประมวลผลการใช้พลังงานภายในบ้านได้เพื่อประเมินการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด การแสดงผลการทำงานของโซลาร์เซลล์ว่าสามารถจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้สำหรับใช้ได้เท่าไรและเพียงพอต่อความต้องการใช้งานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในบ้านหรือไม่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการก้าวเหยียบ (electricity generation by footstep) โดยเป็นแผ่นปูพื้นที่ใช้แรงกดทับจากการก้าวเดินไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในบ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีการนำมาใช้สำหรับการให้แสงสว่างบ้างแล้ว
รถแข่งจิ๋วพลังงานน้ำเกลือ (Salt Water Car) รถแข่งของเล่นที่วิ่งได้จริงโดยใช้พลังงานน้ำเกลือ ซึ่งเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ ที่สร้างปฏิกิริยาเคมีระหว่างแผ่นแมกนีเซียมและแผ่นอะลูมิเนียมให้เกิดการแตกตัวและดูดรับไอออน ตามหลักการไฟฟ้าเคมี แม้วันนี้ยังเป็นเพียงแค่ของเล่น แต่ในอนาคตหากเราสามารถพัฒนาให้ใช้กับรถยนต์จริงๆ ได้ คงจะเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้คนและโลกใบนี้
นอกจากสาระความรู้ที่จัดเต็มกันมาในงาน Make the Future Thailand แล้วภายในงานยังอัดแน่นด้วยความสนุกจากประสบการณ์ Virtual Reality ในโซนต่างๆ และมินิคอนเสิร์ตสุดพิเศษ จากมาริโอ้ เมาเร่อ, ซีดี-กันต์ธีร์, น้องติม&น้องขิม เดอะวอยซ์ คิดส์ และ BNK48