- Details
- Category: Logistics
- Published: Saturday, 31 October 2015 20:53
- Hits: 6626
กพร. หนุนธุรกิจลดต้นทุนโลจิสติกส์ ชูต้นแบบ'สามพรานโมเดล'ดึงเกษตร
บ้านเมือง : กพร.เดินหน้าโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 25 โครงการ ชูต้นแบบ ‘สามพรานโมเดล’จากโครงการสนับสนุนเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่ระบบซัพพลายเชน และประกาศความสำเร็จในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 353 รายคิดเป็นมูลค่าราว 2,600 ล้านบาท พร้อมเสนอรัฐเพิ่มงบในการเสริมศักยภาพผู้ประกอบหวังจีดีพีภาพรวมขยายกพร.
เดินหน้ายุทธศาสตร์
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเป็นมืออาชีพในการจัดการด้านโลจิสติกส์ในสถานประกอบการของภาคอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยธุรกิจในซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม และยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ชูต้นแบบ ‘สามพรานโมเดล’
จากโครงการสนับสนุนเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่ระบบซัพพลายเชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายในระบบโซ่อุปทานของแต่ละอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผน และการบริหารกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดหา การแปรรูป การส่งมอบ และกิจกรรมโลจิสติกส์ทุกๆ กิจกรรม ให้เกิดการประสานงานและเชื่อมโยง ระหว่างผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ตัวกลาง ผู้ให้บริการขนส่ง และลูกค้า โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อจะให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือเกิดใหม่สามารถพัฒนาความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนกับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีของผู้ประกอบการทั้งซัพพลายเชน โดยเชื่อมโยงจากผู้ประกอบการรายใหญ่สู่ซัพพลายเชนรายย่อย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของ SMEs ในซัพพลายเชนให้สูงขึ้น ซึ่งจากผลการดำเนินการที่ผ่านมาใน 3 ปี สามารถสร้างความร่วมมือและการเชื่อมโยงภายในซัพพลายเชนได้ 16 โซ่อุปทาน สถานประกอบการ 96 แห่ง ลดต้นทุนรวมทั้งหมด 220 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ทางสำนักฯ จัดงานสัมมนาสร้างเครือข่าย Go Together : Win-Win Collaboration 2015 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรมภายในโซ่อุปทานที่ได้เคยเข้าร่วมโครงการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายและแบ่งปันองค์ความรู้ให้สถานประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและยั่งยืน ในปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศในอันดับต้นๆ ซึ่งสามพราน ริเวอร์ไซด์ ถือเป็นต้นแบบที่บริหารจัดด้านโลจิสติกส์และมีซัพพลายที่เป็นต้นแบบสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มได้อย่างโดดเด่น
"ในปีนี้ทางสำนักฯ ได้รับงบประมาณ 85 ล้านบาทในการดำเนินโครง การด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จำนวน 25 โครงการ สามารถพัฒนาสถานประกอบการ 353 ราย ได้แก่ กลุ่มอาหารและแปรรูปอาหาร, ปิโตรเคมี และพลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ท่องเที่ยวและ SMEs โดยพัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 6,500 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในซัพพลายเชน 30 กลุ่ม และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 11 ระบบ ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท และเมื่อนำผลการลดต้นทุนนี้มาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง CGE หรือ Computable General Equilibrium พบว่าผลงานโครงการทั้งหมดสามารถส่งผลกระทบในทางบวกต่อระบบ เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเมื่อเทียบกับปีฐาน หรือปี 2557 โดยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 13,573.8 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 0.103% ดัชนีราคาหรือ
อัตราเงินเฟ้อ ลดลงประมาณ 0.137% ผลผลิตหรือผลผลิต (Output) เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,471.3 ล้านบาท หรือประมาณ 0.044% และการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 117,464 คน คิดเป็นประมาณ 0.305% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากผลการดำเนินงานชี้ให้เห็นว่าผลที่ได้จากการลดต้นทุนโลจิสติกส์มีส่วนอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และถึงแม้ว่างบประมาณในการดำเนินโครงการจะปรับลดลงจากปีที่ผ่านมาทางสำนักฯ ยังเดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ" นายชาติ กล่าว
ชุมชนต้นแบบขับเคลื่อน ศก.ไทยยั่งยืน
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า ในส่วนของสามพรานริเวอร์ไซด์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จัดตั้งกลุ่มเรียกว่า "สามพรานโมเดล" ขึ้น ซึ่งดำเนินการมาประมาณ 6 ปี โดยเริ่มต้นทางโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์เรามีการปรับบิสซิเนสโมเดลเป็นแบบ Handy camp ให้มีกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม อาหารและการเกษตร เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะลูกค้าองค์กรมาจัดสัมมนาหรือกลุ่มครอบครัว นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ จากรูปแบบดังกล่าวในการดำเนินงานจึงได้มีการพัฒนาและดึงภาคเกษตรซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบของการปรุงอาหารสำคัญ โดยชูจุดเด่นในเรื่องเกษตรอินทรีย์แบบไม่มีสารเคมีโดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่นำมาผลิตอาหารของโรงแรมจึงปลอดสารเคมี และจากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจึงมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ "ตลาดสุขใจ" เนื่องจากเห็นว่าเกษตรกรในชุมชนที่เข้ามาร่วมและเริ่มปลูกผัก ผลไม้มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นต้องหาช่องทางการทำตลาดมากขึ้น โดยนำสินค้ามาจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ
หนุนจัดการโลจิสติกส์สู่ซัพพลายนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การจัดการโลจิสติกส์เป็นกระบวนการวางแผนการดำเนินงานและการควบคุมการเคลื่อนไหว และจัดเก็บของสินค้าบริการ และข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตั้งแต่แหล่งผลิตไปสู่การบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นการมีระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นองค์กรที่มีการวางแผนและกลยุทธ์ที่ดีตลอดจนสามารถถ่ายทอดลงไปสู่การปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จะทำให้สามารถลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ล่าสุดสำนักโลจิสติกส์ในฐานะแม่งานคัดเลือกผู้ประกอบการเข้ารับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบรางวัลนี้ ให้แก่บริษัท ดานิลี่ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานได้