- Details
- Category: Logistics
- Published: Tuesday, 20 October 2015 09:47
- Hits: 5534
‘ไทย-ลาว’เล็งหนองคาย เป็นด่านศุลกากร-ศูนย์ซ่อมฯ โครงการรถไฟเชื่อม 2 ประเทศ
แนวหน้า : ไทย-ลาวเร่งพัฒนาย่านกองเก็บสินค้าร่วมกันหวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและหวังผลให้เกิดการลงทุนในอนาคตหากมีการเชื่อมรถไฟไทย-ลาว-จีน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางจากลาวมาไทยว่ามีแผนพัฒนาย่านกองเก็บตู้สินค้าและขนถ่ายสินค้า และเชื่อมเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน โดยใช้ สถานีรถไฟนาทา จ.หนองคายเป็นที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟท่านาแล้ง ของลาว โดยมีการศึกษาออกแบบพื้นที่โดยรอบสถานีประมาณ 890 ไร่ เพื่อเป็นย่านกองเก็บตู้สินค้าและขนถ่ายสินค้า (Container
Yard: CY) ส่งเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าคอนเทนเนอร์ในรูปแบบ Multi-modal transportation hub ที่จะขนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุกมาขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ และขนย้ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์สู่รถบรรทุก เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนาเป็นด่านศุลกากร ศูนย์ซ่อมบำรุงรถจักรสำหรับขบวนรถสินค้า ย่านจอดรถไฟ และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟโดยสาร
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2565 จะมีรถบรรทุกสินค้าเข้ามายังสถานีวันละ 240 เที่ยว ปีละ 87,600 เที่ยว และปี พ.ศ.2575 จะเพิ่มขึ้นเป็น 620 เที่ยว หรือปีละ 226,300 เที่ยว โดยการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ในอนาคตแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ การขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกของจังหวัดหนองคาย และพื้นที่ใกล้เคียง การขนส่งสินค้าผ่านแดนของ สปป.ลาว-ประเทศที่สาม และการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกของจีนตะวันตก
สำหรับ ย่านกองเก็บตู้สินค้าจะช่วยให้การขนส่งสินค้าของลาวมีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับเก็บตู้คอนเทนเนอร์และขนถ่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังสามารถขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังของไทย และขนส่งต่อไปยังต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการขนส่งของลาวจะต้องใช้รถบรรทุกในการขนส่งทำให้ค่าต้นทุนในการขนส่งสูงและไม่สามารถเก็บสินค้าได้ ซึ่งย่านกองเก็บตู้สินค้าที่สถานีท่านาแล้งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับลาวเพิ่มขึ้นและจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในอนาคตจำนวนมากหากมีการเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศ
ส่วนการพัฒนาสถานีท่านาแล้งนั้นทางลาวได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.การก่อสร้างอาคารสำนักงานการรถไฟ สปป.ลาว อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ ย่านกองเก็บตู้สินค้า และส่วนที่ 2 เส้นทางรถไฟจากท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ เป็นงานระบบทางรถไฟหลักระยะทางประมาณ 9 กม. และอาคารสถานีเวียงจันทน์ ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างเนื่องจากทางลาวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมมือกับจีนพัฒนาระบบรางเส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์ ด้วยขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตรคาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2558 และใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ในส่วนของงานก่อสร้างอาคารต่างๆคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้จากนั้นทางลาวจะส่งมอบงานให้ทางรัฐบาลได้รับทราบและกำหนดนโยบายการบริหารจัดการต่อไปว่าจะเลือกรูปแบบการบริหารลักษณะใด โดยคาดว่าสถานีท่านาแล้ง จะพร้อมเปิดให้บริการกลางปี 2559
ส่วนรับผิดชอบโครงการในลาวนั้น มี Ministry of Public Works and Transport (MPWT) และผู้ดำเนินงานคือกรมรถไฟลาว โดยได้รับเงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) สพพ. หรือNeighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization-NEDA) ในวงเงินกู้ 70-30 และผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการคือบริษัท เสริมสงวน ซึ่งเป็นบริษัทของไทยเนื่องจากเป็นไปตามข้อตกลงของ NEDA ในส่วนของงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 620 ล้าน
สนข.สำรวจเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน
บ้านเมือง : นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมไทย-ลาว-จีน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมาหนองคาย สำหรับการศึกษาออกแบบที่สถานีนาทา จ.หนองคาย ในพื้นที่โดยรอบสถานีประมาณ 890 ไร่ เพื่อเป็นย่านกองเก็บตู้สินค้าและขนถ่ายสินค้า ส่งเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าคอนเทนเนอร์ในรูปแบบ Multi-modal transportation hub ที่จะขนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุกมาขึ้นตู้คอนเทนเนอร์และขนย้ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์สู่รถบรรทุก เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาเป็นด่านศุลกากร ศูนย์ซ่อมบำรุงรถจักรสำหรับขบวนรถสินค้าย่านจอดรถไฟ และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟโดยสาร โดยกรมการขนส่งทางบกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2565 จะมีรถบรรทุกสินค้าเข้ามายังสถานีวันละ 240 เที่ยว ปีละ 87,600 เที่ยว และปี พ.ศ.2575 จะเพิ่มขึ้นเป็น 620 เที่ยว หรือปีละ 226,300 เที่ยว สำหรับสัดส่วนด้านการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้น ประกอบด้วยระบบรถไฟฟ้ามีประมาณ 30% ระบบรถไฟระหว่างเมืองมีประมาณ 20% และสัดส่วนด้านถนนประมาณ 50% ส่วนการเดินทางระหว่างสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง-หนองคายวันละ 4 เที่ยว ซึ่งในอนาคตจะขยายเส้นทางจากท่านาแล้งสู่เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระบบรางระหว่างไทยกับ สปป.ลาว
นายวิวัฒน์ชัย จิวาศักดิ์อภิมาศ รองประธานหอการค้าฝ่ายโยธาธิการและผังเมือง จ.หนองคาย กล่าวถึงมูลค่าการค้าในช่วงปี 2557 ว่ามีประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีสินค้าส่งออกประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และส่วนของ สปป.ลาวนั้นมีมูลค่าด้านเศรษฐกิจประมาณ 8% ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณประชาชนเข้า-ออกประเทศโดยการผ่านที่สะพานมิตรประมาณ 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งในปลายปีนี้จะมีการเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว จ.หนองคายก็ถือเป็นประตูด้านการค้าชายแดนด้วย