WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Logistic6

สำนักโลจิสติกส์ กระตุ้นผู้ประกอบการไทย จัดงาน Industrial  Supply Chain Logistics Conference 2014 มหกรรมสัมมนาด้านซัพพลายเชนโลจิสติกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี            กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ จัดงาน Industrial Supply Chain Logistics Conference 2014 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มหกรรมสัมมนาด้านซัพพลายเชน โลจิสติกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี หวังกระตุ้นผู้ประกอบการให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมชูนโยบายภาครัฐ สนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ เพื่อเสริมสร้างโครงข่าย Logistics ทั้งด้านกายภาพและการส่งผ่านข้อมูลให้มีความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่การเป็น Trade Nation

   นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ และแนวโน้มการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก ในปัจจุบันทุกอย่างมีความเป็นพลวัต และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสูง ประกอบกับการเปิดเสรีทางการค้า FTA และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องเร่งพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวสูงในการจัดหา ผลิต และส่งมอบ เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวที่มีประชากรหรือผู้บริโภครวมกันถึง 600 ล้านคน

    ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยี และเงินทุน ย่อมมีโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นประตูการค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม และประเทศที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลก เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งหลังจากปี 2558 ปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในทวีปเอเชีย จะเพิ่มขึ้นมากจากภาษีที่เป็นศูนย์ รัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงมีนโยบายเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ ทั้งในระบบถนน รางรถไฟ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือน้ำลึก ตลอดจนการขนส่งทางอากาศ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเสริมสร้างโครงข่าย Logistics ทั้งด้านกายภาพและการส่งผ่านข้อมูลของประเทศ ให้มีความพร้อมรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าและการประกอบธุรกิจค้าขายกับต่างประเทศ เป็นการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้มุ่งสู่การเป็น Trade Nation ด้วยการสนับสนุนภาคธุรกิจให้พัฒนาศักยภาพการเป็น Trader ที่มีสินค้าเป็นแบรนด์ของตัวเอง ทั้งสินค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม และมีธุรกิจบริการที่หลากหลายและครบวงจรในโครงข่ายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การแพทย์ การศึกษา และบันเทิง เป็นการสร้างอำนาจทางการตลาดและทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนและเกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

     นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตยังจำเป็นต้องแข่งขันด้วยความเร็วและต้นทุน นอกเหนือจากคุณภาพที่ทุกคนต้องมี การค้าขายบริเวณชายแดนและข้ามแดนจะมีมากขึ้น และต้องการความโปร่งใสสูง ทำให้ปัจจัยพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ระบบ ICT ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องว่างระหว่าง Producers และ Consumers ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่คนกลางจะถูกลดบทบาทและมีจำนวนน้อยลง ซึ่งเป็นการเข้าสู่ยุคของ Digital Economy ที่การค้าขายกระทำผ่านระบบ e-commerce และ e-market place ซึ่งเป็นการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อความสะดวกในการสั่งซื้อ สั่งขาย จ่ายเงิน และส่งมอบ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

     “นอกจากนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Trade Nation เราก็คงต้องเป็นประเทศการค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเองตามสภาพและทรัพยากรที่มี โดยต้องมีการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบภายในประเทศ เช่น พืชผลทางการเกษตร มีการเพิ่มมูลค่าตลอดซัพพลายเชนของผลิตภัณฑ์ มีการสร้างตราสินค้า หรือ Brand ให้น่าเชื่อถือ โดยลดสัดส่วนธุรกิจการผลิตแบบรับจ้างให้กับแบรนด์ต่างๆ หรือ OEM แต่ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นการผลิตที่มี Brand และ Design ของตนเองเป็น OBM และ ODM ให้มากขึ้น มีการพัฒนาการจัดการทั้งในองค์กร การสร้างเครือข่ายและโซ่อุปทานที่เข้มแข็งและตอบสนองต่อสถานการณ์ (Agility) ตลอดจนมีการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCM เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งภัยธรรมชาติ จากสถานการณ์และแนวคิดที่กล่าวมา ผมคิดว่าการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันจำเป็นต้องมีระบบการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดแข่งขันได้ เจริญเติบโต และเป็นพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่การเป็น Trade Nation ที่ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้เป็นอย่างดีนายปราโมทย์ กล่าว

     ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ได้ดำเนินภารกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเหมืองแร่ 2) อุตสาหกรรมพื้นฐาน และ3) โลจิสติกส์อุตสาหกรรม

    โดยด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ได้ดำเนินการสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากร ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการจัดการโลจิสติกส์ และ โซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (2556-2559) เพื่อวัตถุประสงค์ให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และนี่เองคือที่มาของการจัดงานสัมมนา Industrial  Supply Chain Logistics Conference 2014 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานประจำปี ตามภารกิจด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ของ กพร. พร้อมทั้งเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงกลยุทธ์การเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่อไป

    “การเสนาในหัวข้อ Strategic Global Logistics & Supply Chain Management in Preparation for 2020 และการสัมมนาย่อยในหัวข้อต่าง ๆ รวม 23 ห้อง  อาทิ Best Practice & Lesson Learned ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่องานโลจิสติกส์ การมาตรฐานด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงาน องค์ความรู้ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้ง การจำหน่ายสินค้าของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยในการสัมมนาทั้ง 2 วัน จะมีผู้เข้าร่วมงานรวมทั้งสิ้น ประมาณ 1,700 คนดร.อรรชกา กล่าว

    ทั้งนี้ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของกระทรวงอุตสาหกรรม มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) อาหาร (2) ปิโตรเคมีและพลาสติก (3) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (4) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (5) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (6) ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา และ (7) SMEs ในปี 2557 ได้ขยายการดำเนินงานไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ การขนส่ง อุปกรณ์การแพทย์ ยา และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทำให้สามารถพัฒนาสถานประกอบการได้มากกว่า 500 ราย ลดต้นทุนได้มากกว่า 3,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 7,500 คน และสามารถเชื่อมโยงโซ่อุปทาน 33 โซ่อุปทาน ด้วยการดำเนินงาน 31 โครงการ ภายใต้เงินงบประมาณ ทั้งสิ้น 117.68 ล้านบาท

    อนึ่งจากการติดตามวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม (Logistics Cost per Gross Sale) โดยสำนักโลจิสติกส์ จากแบบสำรวจ รง.9 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขาย ของภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายคิดเป็นร้อยละ 10.02 ลดลงเหลือร้อยละ 9.10 ในปี 2553 ร้อยละ 8.47 ในปี 2554 และร้อยละ 7.27 ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล ณ ปัจจุบัน โดยสัดส่วนที่ลดลงอย่างชัดเจนแบบมีนัยยะ คือ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ซึ่งลดลงจากร้อยละ 6.25 ในปี 2552 เป็น 5.48, 5.35, และ 4.64 ในปี 2553, 2554, 2555 ตามลำดับ ในขณะที่ต้นทุนการขนส่งลดลงจากร้อยละ 2.86 ในปี 2552 เป็น 2.79, 2.35 และ 1.97 ในปี 2553, 2554, 2555 ตามลำดับ ซึ่งแสดงว่าสถานประกอบการอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานดีขึ้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : คุณภัทรเดช โทร.081-5848458 และ คุณวิรัญญา โทร.087-9092064 หรือแฟกซ์ 02-668-351  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!