- Details
- Category: SME
- Published: Thursday, 04 April 2024 12:04
- Hits: 6210
สสว. หนุน BDS ยกระดับมาตรฐานเอสเอ็มอีไทย คาดปี 66 สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่ม 3,000 ล้านบาท
สสว. เผย ความสำเร็จโครงการ BDS สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าทำโครงการต่อเนื่องในปี 68 โดยจะเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นทั้งมาตรฐาน และคุณภาพ ให้สอดคล้องกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ในเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงธุรกิจ และการเพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรในองค์กรธุรกิจ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขันภายในประเทศ และเวทีโลก ดังนั้น สสว. จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ Business Development Service หรือ BDS หรือที่รู้จักันในนาม “SME ปัง ตังค์ได้คืน” ขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการอนุมัติ สสว. จะให้เงินอุดหนุนปรับปรุงกิจการใน 4 ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่
1. ด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานเพื่อการขึ้นทะเบียน ใบรับรอง การประเมินสถานที่ เช่น มาตรฐาน อย., มผช., ISO, GMP, HACCP, Q Mark, มาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก และมาตรฐานอื่นๆ ที่ช่วยสร้างความเชื่อถือหรือเพิ่มมูลค่าให้กับ SME เช่น การตรวจวิเคราะห์ประเมินต่างๆ สอบเทียบเครื่องมือทุกประเภท การขอมาตรฐาน ใบอนุญาต รวมถึงการต่ออายุ เช่น ใบอนุญาต อย. GMP ISO รวมทั้งการใช้บริการกับโรงงานต้นแบบ หรือ Prototype Plant หรือที่มีลักษณะเดียวกัน
2. ด้านการพัฒนาช่องทางการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การเจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการค้าด้วยระบบ Online ผ่าน Platform ที่มีชื่อเสียง การส่งเสริมการจัดทำแผนหรือกลยุทธ์ในการขยายสินค้าและบริการ การสร้างการรับรู้แบรนด์ การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนหรือคู่ค้าในต่างประเทศ การส่งเสริมหรือผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายสินค้า และหรือบริการ กับธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น
3. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ทุกประเภท บริการพัฒนาสินค้าและบริการกลุ่มประเภท BCG หรือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า และการออกแบบสื่อต่างๆ บริการในการพัฒนาหรือการนำระบบ AI, ERP หรือระบบอื่นๆ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และธุรกิจ บริการด้านบัญชีการเงิน เช่น ระบบบัญชี การจัดทำบัญชี เป็นต้น
4. ด้านการพัฒนาและบริหารธุรกิจ เช่น บริการด้านการอบรมเชิงลึกเพื่อให้ได้รับใบรับรองหรือใบประกาศนียบัตร การอบรมแบบ In-House Training บริการการ Implement การตรวจสอบ ติดตาม ประเมิน การใช้เครื่องมือ เพื่อวัดความพร้อมหรือวัดความสำเร็จ หรือการอบรมให้แก่บุคลากรทางธุรกิจ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับสมรรถนะพนักงานในสถาน ประกอบการ ด้านบัญชีการเงิน การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัล AI ระบบ ERP และการอบรมตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนประมาณ 200 หน่วยงาน ที่เข้ามาขึ้นทะเบียน และเข้ามาให้บริการแล้วประมาณ 90 กว่าหน่วยงาน ครอบคลุมกว่า 400 บริการ
โดยผลการดำเนินโครงการ BDS ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) ได้รับวงเงินจากภาครัฐ และกองทุน สสว. เป็นจำนวน 175 ล้านบาท ในขณะนี้มีผู้ประกอบการมาใช้บริการประมาณ 1,800 ราย และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 3,000 ล้านบาท จากการปรับปรุงธุรกิจในด้านต่างๆ
“โครงการ BDS ถือได้ว่าตอบโจทย์เอสเอ็มอีได้มากที่สุด เพราะในอดีตโครงการที่ออกมาจะเจาะเพียงบางกลุ่ม เช่น โครงการปรับปรุงเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจจะมีเพียงบางรายที่ได้ประโยชย์ แต่โครงการนี้ เอสเอ็มอี สามารถเลือกปรับปรุงธุรกิจได้ทุกด้านตามที่ต้องการ จึงได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก” นายวีระพงศ์กล่าว
สำหรับในปี 2568 จะดำเนินโครงการ BDS อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณจากภาครัฐมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยแนวทางหลักๆ จะปรับปรุงระบบ วันไอดี ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะลดขั้นตอนต่างๆ ลงให้ได้มากที่สุด เช่น ให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ BDS ไม่ต้องแนบเอกสาร โดย สสว. จะดึงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานรัฐอื่นๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้รู้ข้อมูลของเอสเอ็มอีแต่ละรายอย่างละเอียดโดยไม่ต้องขอเอกสารจากผู้มาใช้บริการ
นอกจากนี้ จะต่อยอดการยกระดับมาตรฐาน และปรับปรุงกิจการในด้านสิ่งแวดล้อม และการลดภาวะเรือนกระจกให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 10 บริการ เช่น เรื่องคาร์บอนฟุตปริ้นท์ การตรวจประเมินคาร์บอนเครดิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่าบริการสูงมาก สสว. จึงได้คุยกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ที่ทำหน้าที่ตรวจประเมิน ให้นำบริษัทที่ตรวจสอบด้านกรีนให้เข้ามาขึ้นทะเบียนให้บริการเพิ่มขึ้น
รวมทั้งจะเพิ่มหน่วยบริการตรวจสอบมาตรฐาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในด้านธุรกิจบริการเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มฮาลาล กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มธนาคาร เพื่อช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจต่างๆ กลุ่มส่งออก ตลอดจนกลุ่มบริการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจะรวบรวมหน่วยตรวจสอบ ให้การรับรอง ออกมาตรฐาน หรือพัฒนาธุรกิจบริการต่างๆ เข้ามาให้เอสเอ็มอีเลือกใช้บริการมากขึ้น ซึ่ง สสว. จะเข้าไปหาสมาคม หรือหน่วยงานที่ดูแลกำกับธุรกิจบริการในแต่ละด้านที่ BDS ยังไม่มีให้เข้ามาร่วมคัดเลือกธุรกิจตรวจสอบ ให้การรับรอง หรือออกมาตรฐานที่อยู่ในเครือข่ายให้เข้ามาขึ้นบัญชีในระบบ BDS และดึงเอสเอ็มอีด้านบริการเหล่านี้ให้เข้ามายกระดับธุรกิจในทุกด้าน
สำหรับ สถิติการเข้ารับบริการ BDS ส่วนใหญ่จะเข้ามาขออุดหนุนในเรื่องการตลาดเป็นอันดับ 1 ส่วนใหญ่เป็นการออกงานแสดงสินค้า รองลงมาเป็นงานมาตรฐาน เช่น ศูนย์ตรวจสอบรับรองฉลากโภชนาการ การเข้าสู่มาตรฐานไอเอสโอ และการต่ออายุมาตรฐาน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาของบสนับสนุนของ สสว. ได้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงจนาดกลาง
นายวีระพงศ์กล่าวต่อไปว่า “ตอนนี้ผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจโครงการ BDS มากขึ้น แม้ว่ายังไม่ได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดอธิบายในรายละเอียด แต่ก็มีลูกค้าเข้ามาทุกวันมาเลือกบริการ เพราะปากต่อปากจากลูกค้าเดิม ซึ่งหลังจากนี้จะออกไปโปรโมทโครงการ BDS ในภูมิภาคต่างๆ ให้เข้าถึงบริการนี้มากขึ้น นอกจากนี้ จะเก็บข้อมูลความพึ่งพอใจ ข้อเสนอแนะของเอสเอ็มอีที่เข้ามาใช้บริการ และนำมาปรับปรุงแก้ไข ให้ระบบ BDS ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีมากขึ้นในทุกด้าน”
ทั้งนี้ จากการที่มีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการ BDS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก และยังสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาแย่งชิงตลาดได้มากขึ้น เพราะในอนาคตกำแพงภาษีกีดกันสินค้าจากต่างชาติจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นหาก เอสเอ็มอีไทย มีมาตรฐานที่เข้มแข็ง สินค้าและบริการมีมาตรฐานสูง ก็จะช่วยป้องกันสินค้าจากต่างชาติเข้ามายึดตลาดของไทยได้
4131