- Details
- Category: SME
- Published: Tuesday, 09 June 2020 22:26
- Hits: 7010
ITAP สวทช. จัดผู้เชี่ยวชาญช่วยผู้ประกอบการ นำ IoT ประยุกต์ใช้กับสินค้าแฮนด์เมด พัฒนาระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตา คลายเหงาต่อใจผู้สูงอายุ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญภายใต้ “โครงการชนชราแห่งอนาคต” จาก บริษัท FABLAB ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP ของผู้ประกอบการร้านมัลลิกา กิ๊ฟชอป จ.สุพรรณบุรี ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบ Internet of Things หรือ IoT มาปรับใช้กับตุ๊กตาอัดเสียง ทำให้ได้โปรแกรมต้นแบบระบบอัดเสียงภายในตุ๊กตา ซึ่งเป็นสินค้าแฮนด์เมด เย็บมือ และเป็น niche market หรือตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับช่วยคลายเหงาและเป็นเพื่อนแก่ผู้สูงอายุ หนุนเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP ของ SME หยิบเอาโอกาสความท้าทายในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP บนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นางสาวกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ บริษัท แชสซีพลัสอินฟิล จำกัด (FABLAB Thailand) ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า “โครงการชนชราแห่งอนาคต” ที่ดำเนินการโดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ มีส่วนที่ช่วยจุดประกายหรือไอเดียให้กับผู้ประกอบการได้มีโอกาสแปลงแนวคิดและข้อมูลที่มีสู่ต้นแบบ เพื่อนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย หรือเห็นประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม โดยทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ก่อน COVID-19 มีทิศทางชะลอตัวเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนไม่มีปัจจัยสนับสนุนในแง่โครงสร้างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการจับตลาดในกลุ่มการให้บริการ (การดูแล-รับส่ง) อสังหาริมทรัพย์ มากกว่าการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือนวัตกรรมเฉพาะ
ทั้งนี้ ในกลุ่มที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมากจะอิงไปทางกลุ่ม Health-Wellness มากกว่าเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มผู้สูงวัย ขณะที่ทิศทางช่วงหลัง COVID-19 ที่แสดงให้เห็นถึงความขาดแคลน และช่องโหว่ของตลาด ส่งผลให้เกิดการสร้างโรงงานผลิตวัสดุ ตลอดจนเครื่องจักร กระบวนการ เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ในภาวะวิกฤต จากเดิมที่ไทยนิยมนำเข้า รวมถึงในส่วนของผู้บริโภคเอง มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า New Normal ส่งผลให้เกิดตลาดในกลุ่ม Cleaning -Hygienic หรือกลุ่มสะอาด-สุขอนามัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัยแบบ Sharing Economy จะถูกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยนไปพึ่งออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาในกลุ่มเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) หรือ “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” จะเป็นที่ต้องการและได้รับความสนใจมากขึ้น โดยระบบ IoT จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานทั้งในฝั่งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ด้วยความสามารถใหม่ ๆ ที่แก้ไขปัญหาเดิม ๆ ของระบบ IoT อย่างครอบคลุม
ผู้ประกอบการในโครงการชนชราแห่งอนาคต นางสาวมัลลิกา สงเคราะห์ เจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์ OTOP จากร้านมัลลิกา กิ๊ฟชอป เปิดเผยว่า ตุ๊กตาแบรนด์ Mullika เป็นงานแฮนด์เมดผลิตภัณฑ์ OTOP ของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ออกแบบตัดเย็บจากผ้าหลากหลายชนิด เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ เป็นต้น ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัยมีเอกลักษณ์ฝีมือตัดเย็บอันประณีต ทำให้ตุ๊กตา Mullika มีหลากหลายรูปแบบและประเภทที่เน้นเอกลักษณ์ คุณค่า และภูมิปัญญา จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ มีการออกแบบที่ร่วมสมัย และประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลายตามความต้องการ ไม่ว่าจะใช้ตกแต่งบ้าน ตกแต่งรถ เป็นของเล่นเด็ก หรือของขวัญของฝาก
โดยจุดเริ่มต้นของการขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. มาจากความต้องการพัฒนาระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตาที่สามารถบันทึกเสียงบุคคลในบ้านเพื่อแจ้งเวลา แจ้งเตือน และโต้ตอบพื้นฐาน และในอนาคตสามารถที่จะใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารระยะไกลภายในครอบครัวผ่านเทคโนโลยีระบบ IoT เพื่อพัฒนาตุ๊กตาให้สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ช่วยคลายความเหงา ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย ด้วยเหตุนี้จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการชนชราแห่งอนาคต เพื่อมุ่งหวังพัฒนาระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตาดังกล่าว โดยได้นำเทคโนโลยีระบบ IoT มาใช้และผนวกเข้ากับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองกับความต้องการด้านจิตใจและร่างกายของผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด
ผลที่ได้คือ สามารถพัฒนาโปรแกรมต้นแบบระบบอัดเสียงภายในตุ๊กตา ที่สามารถบันทึกเสียงบุคคลในบ้านเพื่อแจ้งเวลา แจ้งเตือน ตามความคาดหวัง และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ IOT เข้ามาช่วยต่อยอดให้ได้มากขึ้นโดยเฉพาะการโต้ตอบระยะไกลทั้งภายในและภายนอกประเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังต่อไป
เจ้าของกิจการ ร้านมัลลิกา กิ๊ฟชอป กล่าวต่อว่า ตลาดผู้สูงอายุยังมีโอกาสอีกมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในด้านสินค้าเชิงธุรกิจสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และด้านสนับสนุนเชิงสังคมสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ขาดโอกาส ผู้ที่สนใจตุ๊กตาแฮนด์เมดแบรนด์ Mullika ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ http://www.mullikahandmade.com/
ทั้งนี้ โครงการชนชราแห่งอนาคต (New Aged Citizens) เป็นโครงการที่โปรแกรม ITAP สวทช. ดำเนินงานร่วมกับอีก 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ TCDC, FABLAB Thailand, สกสว., INNOTECH มหิดล และ มจธ. โดย ABLE lab และ Future Living Lab เพื่อสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ โอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังมาถึง นำมาพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือบริการทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่ชะลอความเสื่อมสภาพของร่างกาย งานออกแบบที่ตอบสนองชีวิตในวัยชรา
และการเชื่อมต่อโลกผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล ที่ทำให้ผู้สูงอายุยังเป็นบุคลากรที่เปี่ยมด้วยทักษะความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ โดยโครงการมุ่งเน้นที่จะเป็นกลไกเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างนวัตกรรมให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทย เป็นองค์ความรู้พัฒนาธุรกิจใหม่พร้อมไปกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ