WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค.อยู่ที่ 165.18 หดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

            นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.57 อยู่ที่ 165.18 หดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และหดตัวเหลือเพียง 2.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนมากเป็นผลมาจากการชะลอตัวของยอดขายยานยนต์ในประเทศที่ยังชะลอตัวลง และย่างเข้าสู่ฤดูฝน

          ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.09%

          ทั้งนี้ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมในสาขาที่สำคัญช่วงเดือน ก.ค.57 มีดังนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็น การลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากการที่อุปสงค์ถูกดึงไปใช้ในปีก่อนหน้านี้แล้วจำนวนมากจากนโยบายรถยนต์คันแรก ส่วนการส่งออกเริ่มกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตามการผลิตรถยนต์เดือนกรกฎาคม ปี 2557 มีจำนวน 151,339 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.89%

          อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลง 4.75% โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง คือ เครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากมีการจำกัดการใช้สารทำความเย็น R 22 ผู้ผลิตอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับสารทำความเย็นใหม่ ทำให้การผลิตชะลอตัวลง ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอื่นๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ตู้เย็น พัดลม กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

          ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.40% โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic IC Other IC ส่วน HDD ได้เริ่มย้ายคำสั่งซื้อกลับมาผลิตในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากสภาพการณ์ในประเทศดีขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศที่ดีขึ้น

          อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยอยู่ที่ 1.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.56 ล้านตัน ลดลง 11.43% โดยในส่วนของเหล็กทรงยาว การบริโภคและการผลิตลดลงเล็กน้อยหลังจากเมื่อเดือนก่อนมีการเร่งผลิตเพื่อชดเชยสต๊อกที่หายไป ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการ AD ในส่วนของเหล็กลวด แต่ยังมีเหล็กเส้นสำเร็จรูปล้นตลาดในจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้

          ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปริมาณการผลิตในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ลดลง 9.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งซื้อของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับกลุ่มผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และยังมีคำสั่งชื้อที่เริ่มทยอยเข้ามาจากต่างประเทศในตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

          อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.6% เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์ประมงและผักผลไม้ที่เพิ่มขึ้นแต่การผลิตสินค้าสำคัญยังคงประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค และจากสภาพความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายลง ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาดำเนินการได้เต็มที่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่วนการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น 3.4% เนื่องจากได้รับผลดีจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แต่ปัจจัยกระทบในสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีความแน่นอนจากการติดตามรอผลสรุปการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!