- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 17 December 2017 20:53
- Hits: 2340
บาทแข็ง ทุบส่งออกอาหารเอกชนโอดแข่งลำบากวอนรัฐ-ธปท.ช่วย
แนวหน้า : นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2560 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัว 3% คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออก 32.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาทหรือขยายตัว 5.3% ลดลงจากประมาณการที่คาดว่าจะส่งออกอาหารได้ 33 ล้านตัน คิดเป็น มูลค่า 1.03 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลง ถึงแม้ว่าการส่งออกในรูป ดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 10%
นอกจากนี้ การส่งออกที่ต่ำกว่าประมาณการยังเป็นผลมาจากส่งออกสินค้าหลักในหลายรายการลดลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะกุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลัง และน้ำผลไม้ ส่งผลให้อันดับ 20 ประเทศ ผู้ส่งออกอาหารโลกในปี 2560 ของไทยอยู่ที่อันดับที่ 14 ของโลก ลดลงมาจากปีก่อน 1 อันดับ มีสัดส่วนการส่งออก 2.36% ของมูลค่าการส่งออกของโลก ส่วนอันดับ 1 คือ ประเทศสหรัฐ มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง10%
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทยมีสัดส่วน 16.6% อันดับ 2 คือ ประเทศญี่ปุ่น 13.5% อาเซียนเดิม 11.6% สหรัฐ 10.6% เป็นต้น โดยตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน ยกเว้นตลาดอาเซียนเดิม ลดลง 10.7% ตามปริมาณการส่งออกสินค้าหลัก เช่น น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่ลดลง
นายยงวุฒิ กล่าวว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงในปี 2561 ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง และแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
สำหรับ แนวโน้มในปี 2561 คาดว่าอุตสาหกรรม อาหารไทยจะขยายตัวในอัตรา 7% มีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 32 ล้านตันมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรในปีการผลิต 2560/61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนและนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลทั้งเกษตรและ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
"ก้าวต่อไปอุตสาหกรรมอาหารต้องการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลซึ่ง 1 ในนั้นคือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่ภาครัฐ สถาบันอาหาร รวมทั้งสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม" นายยงวุฒิ กล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกอาหารในปี 2561 สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึงแม้ที่ผ่านมาได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แล้วแต่ธปท.ได้ชี้แจงว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจากค่าเงินในรูปของดอลลาร์ฯอ่อนค่าลง โดยสภาหอการค้าฯเกรงว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารโดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม และยังกังวลในเรื่องของค่าแรงที่ยังเกี่ยวพันกับภาคสังคมในการดำรงชีวิตว่าสอดรับกับค่าครองชีพหรือไม่
"ที่ฝากธปท.พิจารณาเรื่องค่าเงินบาทไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้วต้องการกำไรที่มากขึ้นแต่หวังจะให้เป็นส่วนสำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและทำให้เม็ดเงินในภาคเกษตรและเอสเอ็มอีสูงขึ้นตามไปด้วยจึงอยากให้ธปท.และภาครัฐช่วยสนับสนุนด้วย " นายพจน์กล่าว
อุตฯอาหาร'ปลื้ม ปี 60 ส่งออกทะลัก ลุ้นแตะ 1 ล้านล้าน
ไทยโพสต์ : ไทยโพสต์ * มั่นใจแนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 60 ยังสดใส เพิ่มขึ้น 4.5% ทำมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ชี้ตลาดซีแอลเอ็มวีมาแรง คาดปีหน้าจะเติบโตต่อเนื่องกว่า 7% เผย ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง ได้รับความนิยมสูงสุด
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากการประสานความร่วมมือกับสภาหอการ ค้าแห่งประเทศไทย และสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เปิดศูนย์อัจฉริยะ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร พบว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.0% สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีปริมาณ 32.5 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.5% จากปีก่อน มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศซี แอลเอ็มวียังคงเป็นตลาดส่ง ออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วน 16.6% รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น 13.5% กลุ่มอาเซียน 11.6% สหรัฐอเมริกา 10.6% แอฟริกา 9.3% จีน 9.0% สหภาพยุโรป 6.0% ตะวันออกกลาง 4.2% โอเชียเนีย 3.3% สหราชอาณาจักร 3.0% และเอเชียใต้ 1.6%
"ปีนี้มีสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่ๆ ที่ขยายตัวสูงและคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าดาว เด่นของไทยในอนาคต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดไม่รวมผลิตภัณฑ์ มะพร้าว ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 72,340 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 23% เครื่องดื่มชูกำลัง 22,520 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ 13,533 ล้านบาท นม 10,469 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่รวมวิตามิน 3,201 ล้านบาท และไอศกรีม 2,122 ล้านบาท โดยสินค้าส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอา เซียน ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กรจะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น" นายยงวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้ม อุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 60 ในอัตรา 7% มีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้าน ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง ผล ผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรในปีการผลิต 2560/61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝน และนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจ ฐานรากของรัฐบาล ทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย
โดยสินค้าที่คาดว่าจะ มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง และทูน่ากระป๋อง ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพิ่มขึ้น 17.6% แป้งมันสำปะหลัง อาหารพร้อมรับประทานเพิ่มขึ้น 10.0% กุ้งเพิ่มขึ้น 9.3% น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 6.8% เครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้น 6.8% ไก่ เพิ่มขึ้น 6.6% และน้ำผลไม้เพิ่มขึ้น 6.6%.