- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:23
- Hits: 3829
บอร์ด SME อนุมัติงบประมาณ 726.7 ลบ.ขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ 13 โครงการ
น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ)ว่า ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วนปี 2558 ตามที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้นำเสนอ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ (4 P) รวม 13 โครงการ ซึ่งมุ่งเน้นงานที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบริหารจัดการงานส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ ดำเนินงานสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน และมีการสร้างกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้ SMEs สามารถเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตได้ตามวงจรธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 บูรณาการการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ (Process) ประกอบด้วย การจัดทำแผนการส่งเสริม SMEs และงบประมาณแบบบูรณาการ การจัดทำฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs การสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนา SMEs โดยมุ่งเน้นการพัฒนาตามวงจรธุรกิจ (Progress) ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธุรกิจ SMEs ออนไลน์ และการสนับสนุนและพัฒนา SME ที่มีศักยภาพสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของ SMEs (Product) ประกอบด้วย โครงการ 1 มหาวิทยาลัย / 1 อาชีวะ : 100 SMEs และการจัดทำทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (Power) เพื่อส่งเสริมและพัฒนา SMEs ประกอบด้วย การส่งเสริมให้ SMEs เป็นสมาชิกองค์การเอกชน การสนับสนุนเครือข่าย SMEs ใน 18 กลุ่ม และการสร้างเครือข่ายธุรกิจกับ SMEs ใน ASEAN
ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทางคณะกรรมการเห็นชอบให้ สสว.ใช้งบประมาณ จำนวน 726.7 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในการตอบสนองนโยบายของ คสช. ที่มุ่งให้ความสำคัญ และผลักดันให้การส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติโดยการสร้างให้เกิดการบูรณการ งานส่งเสริม SME ของประเทศ และพัฒนา SME ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง คาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME (จีดีพี SME) เป็นร้อยละ 38 และสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคล เพิ่มขึ้นจำนวน 50,000 ในปี 2558
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการกำหนดประเภทของ SMEs ที่ควรได้รับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของแผนการส่งเสริม SMEs ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555-2559) หรือช่วงระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดมาตรการส่งเสริม ช่วยเหลือ SMEs เฉพาะกลุ่ม ให้สอดคล้องกับศักยภาพ สภาพปัญหาและความต้องการ เพื่อให้ SMEs เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย โดยพิจารณาจากสาขาธุรกิจที่สร้างประโยชน์และรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ มีศักยภาพในการแข่งขันและมีโอกาสในอนาคต ตอบสนองนโยบายสำคัญของภาครัฐ รวมทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีการเติบโตสูงของประเทศไทย ซึ่งพิจารณาจากมูลค่า GDP ของ SMEs การจ้างงาน รายได้และผลประกอบการ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐ ฯลฯ มีจำนวน 12 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจการบริการด้านการศึกษา กลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน กลุ่มธุรกิจภาคเกษตรกรรม กลุ่มธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ กลุ่มธุรกิจสมุนไพรและเครื่องสำอาง กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
2. กลุ่มธุรกิจ SMEs สาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งพิจารณาจากมูลค่าการส่งออก-นำเข้า จำนวน SMEs และจำนวนแรงงาน มีจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง
อินโฟเควสท์