- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 05 December 2017 18:59
- Hits: 9417
รัฐบาลส่ง 'อุตตม' ร่วมลงนามกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (พ.ศ. 2561 –2564)ย้ำความร่วมมือกับ UNIDO มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศไทย 4.0
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญ (General conference: GC) สมัยที่ 17 ของ UNIDO ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2560 ณ Vienna International Centre กรุงเวียนนา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญ (General conference: GC) สมัยที่ 17 ของ UNIDO ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2560 ณ Vienna International Centre กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เดินสายชู Roadmap พัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 สู่ความยั่งยืน พร้อมชักจูงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยร่วมลงนามกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (พ.ศ. 2561 – 2564) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ที่ไทยได้กำหนดกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับ UNIDO อย่างเป็นรูปธรรมในสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ในด้านต่าง ๆ อย่างยั่งยืนและครอบคลุม และเป็นไปตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Agenda 2030) ขององค์การสหประชาชาติ และยังเป็นการสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในการเป็นสมาชิก UNIDO มาเป็นระยะเวลา เกือบ 50 ปี
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือฯ ดังกล่าว ได้กำหนดสาขาการพัฒนาความร่วมมือใหม่ ๆ ได้แก่ 1) ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในด้านต่าง ๆ อาทิ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 4.0 2) เทคโนโลยีสำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3) โรงงาน 4.0 4) การเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 5) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ 6) การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและเทคโนโลยี (ITPO)นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้สัมภาษณ์แก่สื่อประชาสัมพันธ์ของ UNIDO ในเรื่องความร่วมมือของไทยกับ UNIDO รวมทั้งการชักจูงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมใช้โอกาสนี้หารือทวิภาคีกับ H.E. Sergey Levin และ H.E. Elena Astrakhantseva รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรประเทศรัสเซีย ซึ่งฝ่ายรัสเซียขอการสนับสนุนในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2025 ณ เมือง Ekaterinburg สหพันธรัฐรัสเซีย ต่อมาได้หารือทวิภาคีกับ Ms. Isabella Groegor-Cechowiz ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป...ของบริษัท SAP ซึ่งมีประเด็นหารือเกี่ยวกับโอกาสในการขยายธุรกิจ “ERP”กับภาครัฐ ทั้งนี้ SAP ยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC อีกด้วย
ในช่วงบ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะ เดินทางไปเยี่ยมชม Smart City ของกรุงเวียนนา และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ต้นแบบ ณ Aspern Seestadt โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานบริหารจัดการ Smart City กล่าวต้อนรับ และบรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง และพาเยี่ยมชม Smart City ในรูปแบบของกรุงเวียนนา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการใช้เทคโนโลยีในการเป็น Smart City เท่านั้น แต่ต้องเป็นการพัฒนาเมืองโดยองค์รวม คือ สร้าง บริหารและจัดการเมืองให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ และครอบคลุม อาทิ การบริการทางการแพทย์ การศึกษา นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ยังมีโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ต้นแบบ โดยมีผู้แทน ได้พาเยี่ยมชม
และให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องมือการผลิตในอุตสาหกรรมที่จะทำให้มีความเป็นอัจฉริยะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีความสนใจที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ต้นแบบสำหรับประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากโรงงานต้นแบบขนาดเล็กและให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากับภาครัฐ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” ต่อไป
สำหรับ ภารกิจในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้พบหารือกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพการลงทุนในประเทศไทยเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ โดยได้มีโอกาสหารือเป็นรายบริษัทในช่วงอาหารเช้ากับบริษัทจำนวน 3 ราย ได้แก่ 1) บริษัท Lenzing Group ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 8,500 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี
นอกจากนี้ หลังจากหารือร่วมกัน บริษัท Lenzing ได้ให้ความสนใจในการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทย 2) บริษัท Luf เป็นกิจการประเภท SMEs และเป็นผู้ผลิตรถดับเพลิงและรถสำหรับคนพิการ โดยเน้นการออกแบบ จึงมองหาผู้ผลิตที่มีศักยภาพ ซึ่งจากการหารือนั้นทำให้บริษัท Luf มีความสนใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเรือเร็ว (Speed Boat) ของไทย และอาจจะพิจารณาขยายการลงทุนในปี 2018 3) บริษัท Zumtobel เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และระบบแสงไฟ LED ซึ่งได้รับงานโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำคัญหลายแห่งในประเทศไทย อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทฯ ให้ความสนใจต่อมาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ในการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในไทย