WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

KHAYA24

5 องค์กรรัฐ/เอกชน ถกวิกฤตขยะล้นเมือง ชง คสช.แก้ กม.12 ฉบับ สางปมขยะอิเล็กทรอนิกส์

    ภาครัฐและเอกชน 5 องค์กรจับมือแก้วิกฤตปัญหาขยะล้นเมือง ด้านกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เตรียมเสนอ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้กฎหมายควบคุมการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 12 ฉบับ หลังโรดแมพการจัดการขยะ 9 ข้อผ่าน คสช.แล้ว ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดันโครงการขยะแลกสินค้า ตั้งเป้า ‘ร้านศูนย์บาท’ 120 แห่งทั่วประเทศ ด้านบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ หลังประสบความสำเร็จในการลดขยะฝังกลบเหลือศูนย์

   สืบเนื่องจากวิกฤตขยะล้นเมืองซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด จึงรวมพลังกับองค์กรพันธมิตรอีก 4 องค์กร อันได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาในหัวข้อ'วิกฤตขยะของประเทศไทย : การสร้างพันธมิตรสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน'เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

    นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการเสวนาว่า ปัญหาวิกฤตการจัดการขยะเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลซึ่งนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสนใจและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจากตัวเลขในปี 2557 พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้น 26.8 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้มีขยะพิษอยู่ถึง 5 แสนตัน แต่ปริมาณขยะที่สามารถเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกต้องนั้นค่อนข้างน้อยจึงส่งผลให้เกิดขยะตกค้างสะสม โดยในปี 2556 มีขยะตกค้างถึง 20 ล้านตัน

   ทั้งนี้ ในจำนวนขยะทั้งหมดนั้นขยะที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือขยะพิษ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลและกำจัดขยะเหล่านี้ยังล้าหลัง ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษจึงเตรียมที่จะเสนอ คสช.ให้มีการแก้ไขกฎหมาย 12 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้า

   “การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ผู้ประกอบการอาจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการนำมาตรการทางภาษีมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ไม่เกิน 4 เดือน โดยเร็วๆ นี้ทางกรมควบคุมมลพิษจะเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือเพื่อระดมความเห็น ก่อนที่จะเสนอต่อ คสช.ต่อไป”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

   ด้าน ดร.วิวัฒน์ กฤษฎาสิมะ รองประธานกรรมการซัพพลายเชน บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดทำโครงการแก้วิกฤตขยะของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทยูนิลีเวอร์ยินดีที่จะเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมายูนิลีเวอร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดปริมาณขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตในโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ กระทั่งปัจจุบันยูนิลีเวอร์สามารถลดขยะที่ต้องฝังกลบซึ่งมีปริมาณถึง 23,000 ตันต่อปี ให้เป็นศูนย์ โดยยูนิลีเวอร์ได้มีการประสานกับผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ไปใช้ประโยชน์ต่อ นำกากตะกอนจากบ่อบำบัดน้ำเสียไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือนำไปทำปุ๋ยได้ก็ส่งไปให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง

    ขณะที่ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯนั้นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณขยะในชุมชน ทางสภาอุตสาหกรรมฯจึงได้จัดทำโครงการ ‘ร้านศูนย์บาท’ ซึ่งเป็นร้านค้าที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้า แต่สามารถนำขยะที่รีไซเคิลได้มาแลกเป็นสินค้า โดยขณะนี้มีร้านศูนย์บาทอยู่ 12 แห่งทั่วประเทศ และทางสภาอุตสหกรรมฯตั้งเป้าว่าจะขยายเป็น 120 สาขาทั่วประเทศ

     ทั้งนี้ นอกจากมาตรการของกรมควบคุมมลพิษดังกล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ กรมควบคุมมลพิษยังได้เสนอโรดแมพการจัดการขยะของประเทศ 9 ข้อไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง คสช.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วได้แก่ 1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้บริหารแผนการจัดการขยะในภาพรวม 2.ต้องมีการสร้างวินัยในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง 3.ไม่ให้มีการนำขยะมาทิ้งกองรวมกันอีกต่อไป 4.ในกระบวนการกำจัดขยะจะต้องมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ 5.มีแผนการปรับปรุงฟื้นฟูบ่อขยะ

    พร้อมทั้งดำเนินการปิดบ่อขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากปัจจุบันมีบ่อขยะที่ไม่ได้มาตรฐานถึง 80% จากจำนวนขยะทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 2,500 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเปลี่ยนเป็นการจัดการแบบรวมศูนย์ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องส่งแผนการจัดการขยะให้กรมควบคุมมลพิษพิจารณาภายใน 6 เดือนนับจากนี้ 6.เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการกำจัดขยะ 7.ชุมชนจะต้องสร้างระบบในการจัดการขยะอันตราย 8.มีการแปลงขยะไปเป็นพลังงาน และ 9.ส่งเสริมการจัดการตั้งแต่ต้นทาง โดยภาคการผลิตจะต้องผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สร้างขยะให้น้อยล​ง ​พร้อมกันนี้กรมควบคุมมลพิษยังได้กำหนดพื้นที่วิกฤตที่ต้องจัดการปัญหาขยะโดยเร่งด่วน 6 จังหวัดด้วยกัน คือ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรปราการ

เผยแพร่ในนาม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด โดยบริษัท ซิลเลเบิล จำกัด ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ข่าว กรุณาติดต่อ คุณอรัญญา ลือประดิษฐ์ โทร. 0 2554 3528 โทรสาร 0 2512 1137 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!