WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศอ. เสนอ Zoning หวังรองรับการลงทุนอุตฯ เป้าหมาย เพิ่มผลกระจายพื้นที่อุตฯ และนำความเจริญสู่ภูมิภาคมากขึ้น

   สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เสนอโครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ Zoning มุ่งศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หวังรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค  และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืน

    ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึง โครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ Zoning เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค โดยที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามที่จะกำหนดการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เป็นพื้นที่เฉพาะ เพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ.2555-2558) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่ได้มีการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อนำมาสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning Planning) ที่มีอยู่เดิมอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่อีกด้วย

    ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ภายใต้โครงการศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมนี้ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1) การศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค และ 2) การศึกษายุทธศาสตร์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค โดยกิจกรรมที่ 1 การศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคที่เป็นอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 1 สาขา ซึ่งได้คัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงพื้นที่ และเชิงอุตสาหกรรมตั้งแต่กิจกรรม  ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะนำมาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์ แนวทาง และมาตรการในการผลักดันการพัฒนา พื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนในกิจกรรมที่ 2 การศึกษากลยุทธ์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดศูนย์กลางอุตสาหกรรม จำนวน 2 จังหวัด ใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือและภาคกลาง โดย ผลการคัดเลือกจังหวัดเป้าหมายในภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ และภาคกลาง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนา

    อุตสาหกรรมเป้าหมายใน 2 จังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายอุตสาหกรรมสู่จังหวัดศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม โดยทั้ง 2 กิจกรรมดังกล่าวนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และเป็นปัจจัยในการสร้างงาน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

   ดังนั้น การเร่งพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค อันจะส่งผลให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมและความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาด้านอื่นๆ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้พื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแสวงหาประโยชน์ด้านความเชื่อมโยงจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!