- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 09 August 2017 22:47
- Hits: 8325
เครื่องจักรเก่าจีนจ่อทะลักสร้างโรงเหล็กมือสองในไทย 7 สมาคมเหล็กแนะรัฐควบคุมหวั่นก่อปัญหามลพิษ
7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นห่วงเครื่องจักรเก่าถูกโละจากจีนทะลักเข้าประเทศ จากมาตรการลดกำลังการผลิตของจีน ทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งโรงงานเหล็กมือสอง และส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบด้านพลังงานจากการใช้เครื่องจักรเก่าด้อยคุณภาพและก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เสนอกรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกัน แนะใช้เครื่องจักรใหม่ที่เหมาะสมและทันสมัย
นายทนงศักดิ์ ภูมินา อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เปิดเผยว่าตามที่ประเทศจีนกำลังดำเนินมาตรการอย่างจริงจังเพื่อลดกำลังการผลิตเหล็กส่วนเกินภายในประเทศ ตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 5 ปี (2559-2563) ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะลดกำลังการผลิตส่วนเกิน 100-150 ล้านตันภายในปี 2563 โดยรัฐบาลจีนได้ประกาศการสั่งปิดโรงงานเหล็กขนาดเล็กทั่วประเทศที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยและก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมนั้น มาตรการของจีนดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย กล่าวคือ เริ่มมีผู้ประกอบการไทยบางรายนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากจีนมาใช้ เนื่องจากราคาถูกกว่าเครื่องจักรจากยุโรป
ล่าสุดกลุ่มพันธมิตร 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย ได้ร่วมกันหารือถึงผลกระทบดังกล่าว และมีความกังวลว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นแหล่งระบายเครื่องจักรเก่าจากประเทศจีนซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศและส่งผลกระทบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบเร่งออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของเครื่องจักรเก่าด้อยคุณภาพและก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งเข้าใจว่าขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดเกณฑ์การจัดตั้งโรงงานเหล็กใหม่เพื่อออกเป็นกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้
“เหตุผลที่รัฐบาลจีนกำลังทยอยไล่ปิดโรงงานผลิตเหล็กที่ใช้เครื่องจักรเก่าและใช้กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยเก่าล้าสมัยแล้ว เช่นเทคโนโลยีการผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมแบบ Induction Furnace ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล็กที่ได้จากเครื่องจักรเก่าเหล่านี้ จะมีคุณภาพที่ด้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้เตาอาร์คไฟฟ้า ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและประชาชน อีกทั้งเตาหลอมแบบ Induction Furnace ยังด้อยประสิทธิภาพในด้านการประหยัดพลังงานและยังก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้นประเทศไทยเราเองก็ไม่ควรปล่อยให้มีการผลิตเหล็กด้วยเทคโนโลยีแบบเก่าและเครื่องจักรเก่าเหล่านี้เข้ามาใช้สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศ ซึ่งจะสวนทางกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้”
“ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งโรงงานเหล็กใหม่ในอนาคตจึงควรมีการเลือกใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กโลกและของประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสำเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงควรมีการกำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการนำเข้าเครื่องจักรเก่าด้อยประสิทธิภาพและเพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”นายทนงศักดิ์กล่าว
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า ให้ความเห็นในประเด็นเกณฑ์การจัดตั้งโรงงานใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้นกลม-เส้นข้ออ้อยสำหรับงานก่อสร้างและเหล็กแผ่นรีดร้อน ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมควรพิจารณาในประเด็นต่างๆได้แก่ (1) การกำหนดประเภทเตาที่มีประสิทธิภาพสูงและกำลังผลิตสำหรับโรงงานผลิตที่มีความเหมาะสมเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic of Scale) ควรมีขนาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อชั่วโมง (2) การกำหนดดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ(3) กำหนดการออกแบบระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย (Best Available Technology : BAT)
นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งออกมาตรการป้องกันการย้ายฐานของโรงงานเหล็กขนาดเล็กด้อยคุณภาพจากจีนโดยด่วน ควรมีการกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาใบอนุญาตที่เข้มงวด เช่น การกำหนดพื้นที่เฉพาะ การใช้เครื่องจักรใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานที่ดีและมีระบบการตรวจวัดติดตามผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบโดยให้มีบทลงโทษที่เหมาะสม เช่น สั่งปรับ หรือพักใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือปิดโรงงาน