- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 24 June 2017 21:32
- Hits: 6427
สัมมนาเหล็กอาเซียนชูยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ
เวทีเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนชูประเด็นสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ-ลดพึ่งพาการนำเข้าเพื่อความยั่งยืน อินเดียตั้งเป้าขึ้นแท่นเบอร์สองของโลกเน้นใช้เหล็กในประเทศ Make in India สำหรับโครงการใหญ่ภาครัฐและช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องผู้ประกอบการ สิงคโปร์หนุนผู้ผลิตปรับปรุงผลิตภาพผ่านโครงการรัฐ ในขณะที่มาเลเซียประกาศชัด Buy Malaysian Products First Policy ซีอีโออุตสาหกรรมเหล็กชี้ไทยควรนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้โดยเฉพาะการส่งเสริมเหล็กในประเทศกับโครงการลงทุนภาครัฐเพื่อความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 22-25 พฤษภาคม 2560 สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนได้จัดงานสัมนาประจำปี หรือ SEAISI Conference & Exhibition 2017ที่ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมเหล็กทั้งจากภายในและภายนอกอาเซียน จำนวนหลายร้อยคน ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวมีประเด็นหลักที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ นำเสนอคือ นโยบายสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ
Dr. A S Firoz นักเศรษฐศาสตร์ประจำหน่วยงานวิจัย Joint Plant Committee ของรัฐบาลอินเดีย กล่าวว่ารัฐบาลอินเดียได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้ผลิตเหล็กอันดับสองของโลกภายในปี ค.ศ. 2030-2031 ด้วยกำลังผลิต 300 ล้านตัน จึงได้กำหนดกลยุทธ์ “ Make in India Program” สำหรับขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ (Domestic Industrialization) โดยส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้างงานโครงการภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลเดินหน้าลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมและการขนส่งอย่างเต็มที่ นอกจากนี้รัฐบาลยังเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างทางธุรกิจของผู้ผลิตเหล็กที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง (Stressed Steel Assets) เพื่อช่วยให้กลับสู่การผลิตและการลงทุนได้ใหม่ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า โดยเป้าหมายที่สำคัญคือสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการเหล็กในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างประเทศ
ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ได้นำเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ที่ใช้เหล็กโครงสร้าง (Structural Steel) เป็นวัสดุหลัก โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity) โดย Dr. John Keung ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Singapore Building and Construction Authority (BCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างของสิงคโปร์ กล่าวว่า BCA ได้เริ่มต้นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนางานก่อสร้างในประเทศตั้งแต่ปี 2010 โดยก่อนหน้านั้น อุตสาหกรรมก่อสร้างของสิงคโปร์ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก (Labor Intensive) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาแรงงานต่างชาติถึง 70% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งปัญหาในขณะนั้นก็คือ แรงงานส่วนใหญ่มีประสบการณ์และทักษะน้อยส่งผลให้ผลิตภาพของงานต่ำ
ดังนั้น BCA จึงได้กำหนดมาตรการปรับปรุงผลิตภาพ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาผลิตภาพและศักยภาพงานก่อสร้าง (Construction Productivity and Capability Fund: CPCF) เพื่อปรับปรุงยกระดับผลิตภาพแรงงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการออกแบบอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Building Information Modeling (BIM) ผลักดันการปรับปรุงผลิตภาพผ่านงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ โดยกำหนดผลิตภาพเป็นตัวชี้วัด (KPI) ผลงาน และการจัดตั้งโครงการสร้างมืออาชีพด้านงานก่อสร้าง (Professional) ผ่านหลักสูตรในสถาบันการศึกษาในทุกระดับ
มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเหล็กในประเทศของตน ดาโต๊ะ Thian Lai ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้ามาเลเซีย กล่าวว่าในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า รัฐบาลมาเลเซียก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศที่เรียกว่า Buy Malaysian Products First Policy โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เรียกว่า Industrialized Building System คล้ายๆกับที่ BCA สิงคโปร์ทำอยู่ คือนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในงานออกแบบงานก่อสร้างและทำการผลิตส่วนประกอบโครงสร้างเหล็กก่อสร้าง (Prefabrication) นอกสถานที่ก่อสร้าง (Off-site work) ในลักษณะชิ้นงานพร้อมประกอบที่เรียกว่า module ก่อนนำไปประกอบที่สถานที่ก่อสร้าง ซึ่งช่วยลดทั้งระยะเวลาการก่อสร้างและจำนวนแรงงาน
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการบริหารของ SEAISI กล่าวว่า “แนวทางในการในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของรัฐบาลประเทศต่างๆในอาเซียนล้วนมีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ ประเทศไทยควรศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสากรรมเหล็กของประเทศเหล่านี้ นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้รัฐบาลมีแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ ที่จะต้องใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวนมาก น่าจะลองใช้มาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศคล้ายๆกับของอินเดียและมาเลเซีย เช่นอาจจะเรียกว่า Buy Thai Steel Policy ซึ่งแม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังประกาศนโยบาย Buy America สนับสนุนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ สำหรับในเรื่องการปรับปรุงผลิตภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเราน่าจะดูรูปแบบของ BCA สิงคโปร์เป็นตัวอย่าง ซึ่งปัญหาในขณะนี้ก็คือ เรายังไม่มีหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นเจ้าภาพโดยตรง ที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้”