- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 18 May 2017 22:36
- Hits: 9645
กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล ลุยสำรวจความต้องการแรงงานด้านวิชาชีพ คาดพร้อมรับบุคลากรเสริมทัพกว่า 1,000 ตำแหน่ง เตรียมเสนอ สอศ. ออกแบบหลักสูตรปั้นบุคลากรเข้าสู่ตลาด
3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เร่งสำรวจความต้องการแรงงานสายวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ก่อนถก สอศ. ออกแบบหลักสูตรภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อปั้นนักศึกษาอาชีวะระดับ ปวส. ป้อนโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง คาดมีความต้องการด้านบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมกว่า 1,000 ตำแหน่ง หวังเปิดรับนักศึกษาเข้าอบรมหลักสูตรได้ในปีการศึกษา 2561
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรวิชาชีพระดับอาชีวศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ที่จะป้อนแรงงานวิชาชีพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ล่าสุด คณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้เริ่มสำรวจความต้องการบุคลากรด้านวิชาชีพของโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและคุณสมบัติของแรงงานด้านวิชาชีพในสายงานต่างๆ ที่ยังขาดแคลน หรือต้องการรับบุคลากรเพิ่มเติม ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นพบว่า ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีความต้องการใช้แรงงานด้านวิชาชีพในสายงานต่างๆ เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ รวมกว่า 1,000 ตำแหน่ง หลังจากนั้น จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือร่วมกับ สอศ. เพื่อวางแผนจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการฝึกอาชีพในโรงงานน้ำตาล
นอกจากนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และ สอศ. จะร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาอาชีวะระดับ ปวส. เข้าอบรมหลักสูตร โดยหลักสูตรดังกล่าวจะใช้เวลาการเรียนการสอน 2 ปี เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญตรงกับสายงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ คาดว่าจะเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวส. เข้าอบรมหลักสูตรได้ในปีการศึกษา 2561
“กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะร่วมกับภาครัฐออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านหลักสูตรนี้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาการ และได้ฝึกปฏิบัติจากสถานที่จริง เพื่อสร้างความชำนาญด้านงานช่าง ดังนั้น นักศึกษาที่จบหลักสูตรจึงมีโอกาสเข้าทำงานในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการแรงงานในสายวิชาชีพอีกเป็นจำนวนมาก”นายสิริวุทธิ์ กล่าว