- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 11 May 2017 13:23
- Hits: 2554
กลุ่มมิตรผล เปิดตัวโรงไฟฟ้าชีวมวล พาเนล พลัส ไบโอ-เพาเวอร์ สงขลา ครั้งแรกของการผลิตไฟฟ้าจากไม้ยางพารา สร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดผู้นำด้านพลังงานทดแทน
กลุ่มมิตรผล เปิดโรงไฟฟ้าชีวมวล พาเนล พลัส ไบโอ-เพาเวอร์ ผลิตไฟฟ้าจากไม้ยางพาราเป็นโรงแรกของกลุ่มฯที่จังหวัดสงขลา ตอกย้ำความเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลอันดับหนึ่งของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่อยอดการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลและพลังงานทดแทนในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้นจากวัตถุดิบการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น สานต่อแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่เหลือใช้ (From Waste to Value) ของกลุ่มมิตรผล
ด้วยการนำเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดคุณค่าสูงสุดด้านพลังงาน พร้อมตั้งเป้าในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ได้มาจากชานอ้อย (Alternative Power) ให้ได้ 200 เมกะวัตต์ภายในปีพ.ศ. 2563
นายสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการผู้จัดการธุรกิจ Alternative Power กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผลมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยมานานกว่า 60 ปี โรงไฟฟ้า พาเนล พลัส ไบโอ-เพาเวอร์ สงขลา เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของกลุ่มมิตรผลในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของกลุ่มที่ผลิตไฟจากไม้ยางพารา นับเป็นความภูมิใจที่สามารถต่อยอดประสบการณ์ไปสู่เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยใช้วัสดุเศษไม้ที่เหลือจากกระบวนการผลิตของกลุ่มพาเนล พลัส ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้ภายใต้การบริหารของกลุ่มมิตรผล และจากโรงงานแปรรูปไม้อื่น ๆ ในท้องถิ่นที่มีปริมาณกว่า120,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งมั่นของกลุ่มมิตรผลในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น นอกจากชานอ้อยที่ทำมาโดยตลอด”
โรงไฟฟ้าชีวมวลพาเนล พลัส ไบโอ-เพาเวอร์ สงขลา ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าให้โรงงานผลิตวัสดุทดแทนไม้ของกลุ่มพาเนล พลัส ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตประสิทธิภาพสูงด้วยระบบ High Pressure Boiler ใช้วัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าน้อยลง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีระบบการดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ที่ช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น อีกทั้งยังถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่มีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มด้วยระบบแผงโซล่าร์ผลิตไฟบนบ่อน้ำ (Solar Floating) กำลังการผลิต 20 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำดิบที่มีอยู่ภายในโรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการติดตั้งระบบการผลิตนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการระเหยของน้ำในบ่อด้วยเช่นกัน
นายสุวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลจากไม้ยางพาราในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษไม้ที่เหลือใช้ภายในโรงงานและชุมชนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้โรงงานผลิตวัสดุทดแทนไม้ในกลุ่มพาเนล พลัส สามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาด ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าด้วยการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นรอบโรงไฟฟ้า 1 สตางค์ต่อ 1 หน่วยไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล และยังสมทบเพิ่มให้อีก 1 สตางค์ ต่อ 1 หน่วยไฟฟ้า เพื่อเป็นกองทุนพัฒนาชุมชนของกลุ่มมิตรผล ด้วยเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมในการคืนกลับให้กับชุมชนเพื่อนำไปพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”
เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ประเทศไทย)
มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ เป็นหนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผล ที่ผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย เพื่อใช้หมุนเวียนภายในโรงงานน้ำตาลและโรงงานอื่นๆ ในกลุ่มมิตรผล นอกจากนี้ ส่วนที่เหลือใช้ยังจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อจ่ายไฟฟ้าต่อไปยังชุมชน ถือเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ปัจจุบัน กลุ่มมิตรผล มีโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยทั้งหมด 7 แห่ง ในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ตาก และเลย มีกำลังการผลิตรวม 522 เมกะวัตต์ สามารถส่งไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค ได้ 191 เมกะวัตต์ ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่อันดับที่ 1 ของไทย
นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าทดแทนในรูปแบบใหม่ นอกเหนือจากพลังงานชีวมวลจากชานอ้อย
ภายใต้กลุ่มธุรกิจ Alternative Power Business โดยมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภท Solar Rooftop และ Solar Farm กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตจากแกลบ กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ จังหวัดอยุธยา และไม้ยางพารา กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสงขลา