WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1sme23

ธพว. ศอ.บต. สสว. Central Lab สานต่อนโยบายประชารัฐจับมือ MOU ยกระดับผู้ประกอบการ ส่งเสริมศักยภาพ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดันเข้าสู่แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 6,000 ล้านบาท

    ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank), ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมบูรณาการประสานความร่วมมือผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสานต่อนโยบายรัฐที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น (Local Economy) สร้างความพร้อมด้วยองค์ความรู้รอบด้าน เพิ่มโอกาสเพิ่มรายได้ให้เติบโตเข้มแข็งอย่างยั่งยืนก้าวสู่อุตสาหกรรม ไทยแลนด์ 4.0 และ SMEs 4.0 พร้อมผลักดันเข้าสู่แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 6,000 ล้านบาท สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ข้อ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ข้อ (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และข้อ (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ภายใต้โครงการ’ส่งเสริมศักยภาพ ผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประธานกรรมการดำเนินโครงการตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล

     นายศุภณัฐ  สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต.“ร่วมดำเนินการคัดกรองผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีศักยภาพที่ส่งต่อเพื่อให้ได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ ธพว. หรือ สสว. และพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้ได้รับการพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐาน”

     นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า “การร่วมมือกันในโครงการครั้งนี้ ธพว.ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของ SMEs ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่ามีศักยภาพ หากได้รับการสนับสนุนด้านบริหารจัดการ เงินทุนและการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ SMEs มีความเข้มแข็งและมั่นคง พร้อมกันนี้ ธพว. สนับสนุนการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งในรูปของสินเชื่อหรือร่วมลงทุน โดยมีสินเชื่อที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล คือ สินเชื่อโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5% เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ และสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี2560 วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 3%  ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนป้องกันไม่ให้ธุรกิจเกิดการสะดุด เป็นแรงผลักดันให้กิจการสามารถฟื้นฟูดำเนินการต่อไปได้”

     นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการ อาทิ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี  ตลอดอายุสัญญา  ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย โดยธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตร, แปรรูปอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น โดยแต่ละจังหวัดจะกำหนดธุรกิจกลุ่มยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

      สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที่ 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้ กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง, เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม, มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 เช่น SMEs กลุ่มธุรกิจ S-Curve หรือ SMEs ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น

      โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงินกองทุน 2,000 ล้านบาท จาก สสว. เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้คืนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี  ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟู ได้แก่ ธุรกิจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่ยังคงดำเนินกิจการหรือพร้อมจะฟื้นฟูกิจการได้  ธุรกิจที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว หรือยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอเนื่องจากเงินหมุนเวียนธุรกิจขาดสภาพคล่อง เป็นต้น

     โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคล ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ หรือขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้คืน 5-7 ปี ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท  คณะบุคคลที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท  และนิติบุคคลที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท ซึ่งกิจการจะต้องมีแผนฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าหนี้ ลดปัญหาการล้มละลาย การเลิกจ้างงาน และช่วยผยุงภาพรวมเศรษฐกิจ SMEs ไว้

      นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. “นโยบายส่งเสริม SMEs ของ สสว. มุ่งเน้นให้ SMEs ผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งสินค้าของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นประเภทอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป มีจุดเด่นในเรื่องรสชาติ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ เรื่องมาตรฐานสินค้า ถูกสุขลักษณะ และความมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งหากสินค้าของวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้ ได้รับการรับรองจาก Central Lab หรือ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ สสว. มาช่วยตรวจสอบว่า ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จะทำให้สามารถขายสินค้ากับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง

     ในเมือง หรือขายสินค้าในวงกว้างได้  เช่น ขายสินค้าในโมเดิร์นเทรด หรือขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องสินค้าชุมชนที่ได้รับมาตรฐานสินค้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับแล้ว สินค้าวิสาหกิจชุมชนบางรายอาจมีการปรับปรุง Packaging ให้สะดุดตาสะดุดใจและบอกรายละเอียดสินค้าโดยเฉพาะข้อมูลทางโภชนาการเพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งอาจต้องมีการใช้เงินทุนในการปรับเปลี่ยน Packaging ในเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะมีแหล่งเงินทุนจาก ธพว. มาช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่ครบวงจร”

     นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์  กรรมการผู้อำนวยการ Central Lab “แล็บประชารัฐ จะนำแจ้งมาตรฐานสากลมาช่วยตรวจและวิเคราะห์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ดียิ่งขึ้น”

   โดยหน่วยงานพันธมิตรจะได้ร่วมขับเคลื่อนการสนับสนุนทุกด้านไปสู่ SMEs ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ร่วมผลักดันให้สามารถปรับปรุงการพัฒนาธุรกิจก้าวสู่เอสเอ็มอี 4.0 พร้อมขยายการเติบโตและการพัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็ง สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจใช้บริการเงินกู้สินเชื่อของ ธพว. สามารถติดต่อยื่นคำขอกู้ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357 หรือสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของธนาคารผ่านช่องทาง facebook.com/SMEDevelopmentBank

   ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : นางอุบลรัตน์ ค่าแพง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร. 085-980-7861 หรือ 0-265-4574-5

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!