WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

DE พเชฐ ดรงคเวโรจนสตาร์ทอัพ' แพลตฟอร์มสร้างไทยแลนด์ 4.0

      ไทยโพสต์ : สตาร์ทอัพ'คำนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไปแล้ว เราได้รู้จักและสัมผัสธุรกิจของกลุ่มนี้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมาในรูปแบบของงานบริการมีเจ้าของไอเดียเป็นต่างชาติ โดยกลุ่มที่เข้ามาไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้นสิงคโปร์ แม้จะมีสตาร์ทอัพที่เป็นไทยแท้อยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก ด้วยช่วงที่ผ่านมาแรงสนับสนุนของรัฐและเอกชนมีไม่มากนัก

      แต่ด้วยตอนนี้รัฐบาลไทยมองเห็นมูลค่าเพิ่มที่มากับกลุ่มสตาร์ทอัพ และพยายามผลักดันให้ไทยก้าวสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนทัศนะและวิธีการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อบริการประชาชน ด้วยต้องการให้ภาครัฐเป็นต้นแบบสำคัญที่แสดงให้คนในประเทศใกล้ชิดกับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีรูปธรรม หากทุกฝ่ายมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในทิศทางเดียวกันทั้งรัฐและเอกชน

      กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ถูกจัดตั้งขึ้นและเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานใหม่จากเดิมที่เป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ให้มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ แน่นอนว่า งานหลักในการพลิกสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพนั้น กระทรวงดีอีเป็นแม่งานด้วยส่วนหนึ่ง

     ดีอี แกนหลักปั้นดิจิทัลไทยแลนด์นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ คือ หัวใจหลักของการสร้างดิจิทัลไทยแลนด์ กระทรวงดีอีจะเป็นแกนหลักในการผลักดัน โดยมีหน่วยงานในสังกัดคือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ซึ่งเป็น 3 เสาหลัก ที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ไทยใช้ดิจิทัลในการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันสากล

     ทั้งนี้ มองว่าภายใน 2 ปีนี้ คือ พ.ศ.2560-2561 โครงการต่างๆ ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นชัดเจน อาทิ โครงการเน็ตประชารัฐ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท, การขยายและเพิ่มเส้นทางอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ที่เป็นเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ หรือ ซัพมารีนเคเบิล จำนวน 7 เส้นทาง ภายใต้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ใน 2 ปี ให้สามารถรองรับการใช้งานข้อมูลทั้งในและต่างประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้น, โครงการดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา พื้นที่ 500 ไร่ และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าด้วยเทคโนโลยีของ ปณท ที่จะเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดอี-คอมเมิร์ซจากชุมชนรากฐานอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

     "โครงการเหล่านี้จะต้องสำเร็จเป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และในปี 2561 ผลจากการดำเนินงานจะทำให้เกิดความสนใจกับกลุ่มนักลงทุนและต่างชาติเข้ามาเลือกใช้บริการของไทยมากขึ้น และทุกโครงการต้องทำให้มีความโปร่งใส" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

เร่งสร้างดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ดึงพันธมิตรต่างชาติลงเงิน

     ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ จะเป็นศูนย์รวมการสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ของประเทศ ที่วางรูปแบบให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล รวมถึงสถาบันวิจัยเข้ามาลงทุน โดยจะสร้างในพื้นที่ศรีราชา จ.ชลบุรี 500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เป็นผู้ถือครองไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งได้รับจากกรมธนารักษ์

      โดยแคทมีการลงทุนพัฒนาแบนด์วิธความเร็วสูงไว้แล้ว และมีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ หรือ ซัพมารีน เคเบิล เชื่อมต่อกับต่างประเทศ ประกอบกับอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังผลักดันส่งเสริมการลงทุนใหม่จำนวนมาก จึงส่งผลดีต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่

     อีกทั้ง ตามนโยบายที่กระทรวงดีอีได้วางกรอบไว้ หากเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น จะส่งผลดีทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางดิจิทัลของไทย และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งทางกระทรวงจะต้องหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้สิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุน อาทิ มาตรการยกเว้นภาษีให้เอกชนที่เข้ามาลงทุนเป็นเวลา 8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% ต่อเนื่องอีก 5 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีนำเข้าเครื่องจักรต่างประเทศ หรือนักวิจัยที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา เป็นต้น

     และในช่วงเดือน ก.ค.2560 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานรวมตัวสตาร์ทอัพครั้งใหญ่ มีเครือข่ายสตาร์ทอัพ และนักลงทุนจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน จึงเป็นการดีที่จะโปรโมตแผนดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์เพื่อหาพันธมิตรร่วมลงทุน

'ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง' แมชชิ่งสตาร์ทอัพ ระดับโลก

     ในช่วงวันที่ 13-16 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีได้นำคณะผู้ประกอบการและธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ของไทยเข้าร่วมการประชุม Global Entrepreneurship Congress (GEC) หรือ จีอีซี ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง United States Small Business Administration (SBA), Ministry of Small Business Development แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และ Global Entrepreneurship Network (GEN) หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพโลก ให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย รวมถึงผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพจาก 160 ประเทศทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่าย

     นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า การประชุม GEC จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปแอฟริกา จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการและธุรกิจเอสเอ็มอีไทย มีช่องทางขยายการลงทุนในตลาดแอฟริกาใต้ รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะได้พบปะและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ อีกทั้งงานนี้จะเป็นการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ GEN เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

      และเพื่อเป็นการรองรับการเปิดตัว GEN ASEAN ในการจัดงาน "ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง" (Digital Thailand Big Bang) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6-9 ก.ค.2560 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการไทยไปสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงและทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอีกด้วย

ไอเดียเด่น สตาร์ทอัพ แซนด์บ็อกซ์

     นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังมีไอเดียบรรเจิด หลังจากการเข้าร่วมประชุม GEC โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่อง เรกูลาทอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Regulatory Sandbox) เพื่อเป็นสนามให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีไอเดียแปลกใหม่สามารถทดลองดำเนินธุรกิจได้แบบมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ น้อยที่สุด

   โดยกระทรวงดีอีจะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ พัฒนารูปแบบของแซนด์บ็อกซ์ที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศที่จะเข้ามาทำธุรกิจ โดยแนวคิดนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด

     ทั้งนี้ สตาร์ทอัพ แซนด์บ็อกซ์ จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ ทั้งเอกชนและภาครัฐมาหารือเพื่อร่วมหาทางออกกัน โดยต้องยอมรับก่อนว่า ปัจจุบันไม่สามารถปิดกั้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะเข้ามาได้ แต่ก็ต้องเข้าใจกฎหมายของแต่ละธุรกิจด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีคนธรรมดาเปิดธุรกิจให้เช่าห้องผ่านแอปพลิเคชัน ถามว่าผิดไม่ ตอบว่าผิด เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ประเทศญี่ปุ่นก็ไม่สั่งห้ามหรือจับกุม แต่จะมีการออกหลักเกณฑ์ด้วยการกำหนดระยะเวลาในการให้บริการ เป็นต้น

     สำหรับ กลุ่มธุรกิจที่ต้องเร่งจัดทำแซนด์บ็อกซ์ คือกลุ่มคมนาคมและธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะการหาทางออกร่วมกันระหว่างอูเบอร์และกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนเองเชื่อว่าเมื่อมีการเจรจากันจะมีทางออกที่ดี ทั้งผู้ให้บริการรายใหม่ และรายเก่า เพราะปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

    "บางกลุ่มธุรกิจอาจจะมีทางออกที่ไม่ผิดกฎหมาย บางกลุ่มธุรกิจอาจมีทางออกเฉพาะ หรือบางทีอาจมีช่องให้ออกกฎหมายลูก ก็เป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้ต้องมาคุยกัน ก็ยังไม่รู้ว่าข้อสรุปที่ได้จะเป็นแบบไหน แต่เชื่อว่าเมื่อได้มีการศึกษาและได้เจรจากันมันจะมีทางออก กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาใหม่จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และกลุ่มธุรกิจเดิมที่ได้รับผลกระทบก็ต้องปรับตัวให้มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว.

    "โครงการเหล่านี้จะต้องสำเร็จเป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และในปี 2561 ผลจากการดำเนินงานจะทำให้เกิดความสนใจกับกลุ่มนักลงทุนและต่างชาติเข้ามาเลือกใช้บริการของไทยมากขึ้น  และทุกโครงการต้องทำให้มีความโปร่งใส"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!