- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 27 March 2017 23:21
- Hits: 11468
สมอ.เตรียมพร้อมผู้ประกอบการหลังปรับปรุง มอก.บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ และหลอดฟลูออเรสเซนซ์ขั้วคู่
สมอ. เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ และหลอดฟลูออเรสเซนซ์ขั้วคู่ สร้างความเข้าใจในข้อกำหนดและวิธีทดสอบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้กลางปีนี้
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน และคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ล่าสุด สมอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน หรือ มาตรฐานบังคับ แล้วเสร็จ จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ 1) มอก.23-2558 บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มีผลบังคับใช้ วันที่ 20 ธันวาคม 2560 2) มอก.2337-2557 บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ : คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน มีผลบังคับใช้ วันที่ 16 สิงหาคม 2560 และ 3) มอก.956-2557 หลอดฟลูออเรสเซนซ์ขั้วคู่ : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มีผลบังคับใช้ วันที่ 3 ตุลาคม 2560
ซึ่งมาตรฐานทั้ง 3 ฉบับ มีความแตกต่างจากมาตรฐานฉบับเดิมหลายประการ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนซ์ขั้วคู่ จะมีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ในด้านความทนความร้อนและไฟ และความคงทนทางไฟฟ้า ในส่วนของบัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ จะมีการทดสอบแรงดันไฟฟ้าสูงแบบอิมพัลส์ และการประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้น การตีความข้อกำหนดของมาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง สมอ. จึงจัดการสัมมนา “การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย
คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน และหลอดฟลูออเรสเซนซ์ขั้วคู่ : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มาตรฐานเลขที่ มอก.23-2558 มอก.2337-2557 และ มอก.956-2557 ขึ้นในวันนี้ (27 มีนาคม 2560) เพื่อให้ผู้ทำและผู้นำเข้า ได้รับความรู้ความเข้าใจข้อกำหนดและวิธีทดสอบตามมาตรฐานฉบับใหม่ เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และโรงงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนด รวมถึง เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ทำ ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการในการขอรับใบอนุญาตทำ-นำเข้า การแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ถูกต้องครบถ้วนบนผลิตภัณฑ์ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติหลังการได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานการตรวจประเมินให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีทักษะความรู้ในการตรวจประเมินยิ่งขึ้นด้วย
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ทำ ผู้นำเข้า ต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจในข้อกำหนด การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงโรงงาน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยในการใช้งาน และเป็นการประหยัดพลังงานอีกด้วย”