- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 22 January 2017 20:23
- Hits: 10203
สัมภาษณ์พิเศษ : นำทัพซีพี ลงทุนจีนกว่า 50% รุกสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ถอดรหัส ธนินท์ เจียรวนนท์
'ทุกครั้งที่มีวิกฤติ ก็มีโอกาส'หลักคิดของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้กุมบังเหียนอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ที่ยิ่งใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ท่ามกลาง การจับตาสถานการณ์ผันผวนทั่วโลก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในเวลานี้ "ธนินท์"ในฐานะ ผู้นำทางความคิด สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลง นำพาประเทศไทยก้าวไกล
ธนินท์ ในฐานะนักธุรกิจผู้นำ 'ไทย' ปักธงบุกเบิก 'จีน' มายาวนาน สร้างชื่อเป็นที่รู้จักในนาม "เจิ้งต้า" หรือ เจียไต๋ มองอนาคต 'ไทย-จีน' มั่นใจว่า เศรษฐกิจจีนยังไปได้อีกไกล ขณะที่การเมืองนิ่งแล้ว
เวลานี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6-7% จะเหลือ 5% ก็ยังไปได้ เรียกว่า "รวยมหาศาล" เพราะไซส์ใหญ่มาก เทียบอดีตเศรษฐกิจเล็กกว่า จึงเติบโตหลายสิบเปอร์เซ็น
"จีน ดูแลตัวเองได้ไม่ล่มสลาย เขามีทีเด็ดมาก การเมืองต้องคุมแน่น เปิดเศรษฐกิจก่อน"
มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่าง "จีน" ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่เทียบได้กับ 20 ประเทศ เป็นฐานธุรกิจหลักของเครือซีพี ที่วางรากฐาน สร้างสายสัมพันธ์ลึกซึ้งเหนียวแน่นมายาวนาน สร้างความได้เปรียบให้ซีพีต่อก้าวรุกแห่งอนาคตที่มีโอกาสธุรกิจอีกมากมาย
กุมลงทุนธุรกิจในจีนเกิน 50%
ธนินท์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าปัจจุบัน การลงทุนของธุรกิจซีพีในจีน เฉพาะอาหารสัตว์คิดเป็น 20-30% ของทั้งเครือ หากรวมการลงทุนต่างๆ ขณะนี้ ใหญ่กว่าไทยมาก การลงทุนรวมในจีนเกิน 50% แต่หากรวมยอดขายไทยและอีก 14 ประเทศ (15 ประเทศ) ใหญ่กว่าจีนเล็กน้อย แต่ต่อไป "จีนใหญ่สุด" จีนประเทศเดียวเท่ากับ 20 ประเทศ มั่นใจว่าอนาคตเศรษฐกิจจีนดีขึ้นแน่นอน
ถามว่าไม่กลัวฟองสบู่แตก หรือสิ่งที่ ซ่อนๆ อยู่การเงิน ธนาคาร รัฐวิสาหกิจที่ไปไม่รอด จะโผล่ออกมาส่งผลกระทบ ธนินท์ ย้ำว่า หากเขาทำเป็นและมีอำนาจที่จะทำ เงินที่เป็นหนี้เล็กน้อยมาก แต่เขายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรราคาสูงขึ้น เปลี่ยนเป็นผลไม้ เป็นสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เป็นทรัพย์สมบัติ เหมือนน้ำมัน อย่างยุโรป หมูราคาแพงกว่าไทยเป็นเท่าตัว แต่ไม่ยอมซื้อของเรา เพราะหมู อะไรที่เกิดจากประเทศเขา เหมือนน้ำมัน มูลค่าสูง สินค้าเกษตร อยู่บนดินหรือใต้ดิน แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ประเทศยากจน สินค้าเกษตร ค่าครองชีพต่ำ เพราะขายแรงงาน มีประเทศไหนบ้างร่ำรวยได้สินค้าเกษตรไม่แพง
"อย่าไปเรื่องการเมือง เราเป็นประเทศเล็ก ต้องไปทางเศรษฐกิจ กับ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ รัสเซีย อินเดีย เราเก่งอยู่แล้วแต่เอียงนิดไปทางจีน เพราะเขาเป็นพี่เบิ้ม อย่าไปทำให้ญี่ปุ่น หรือสหรัฐ หรือใคร ใครไม่พอใจ ตอนนี้ไทย เดินถูกทางแล้ว เชื่อว่ากระทรวงต่างประเทศเราเก่ง"
ส่งเสริมเถ้าแก่น้อยขายสินค้าซีพี
ขณะนี้จีนกำลังส่งเสริมภาคธุรกิจบริการ รัฐบาลประกาศชัดว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ไปทำธุรกิจ ริเริ่มอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น "สตาร์ทอัพ" หรือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
"ผมกำลังจะไปส่งเสริมเถ้าแก่น้อย ขาย ข้าวมันไก่ กาแฟ ขายบริการเคาเตอร์เซอร์วิส ขายซิม ช่วยเก็บเงินให้เครดิตคาร์ด กำลังไปทำเมืองจีน สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่"
ซีพีกำลังจะไปสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เข้ากับนโยบายรัฐบาลจีน สนับสนุนประชาชนให้เป็นเถ้าแก่ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ซีพีปรับตัว ทันยุคสมัย ไม่ได้มุ่งเฉพาะเรื่องอาหาร และเกษตรเท่านั้น แต่วางยุทธศาสตร์ "integrated" ในทุกธุรกิจ
"เกษตรกรปล่อยเดี่ยวไม่ได้ ถูกรุมกินโต๊ะ ผมขายไก่พันธุ์ อาหาร ขายยา มีกำไร เถ้าแก่เลี้ยงไก่จับไก่เสร็จจะไปส่งที่ไหน เกษตรกรเลี้ยงแล้วจะไปส่งที่ไหน ก็ต้องมีเถ้าแก่น้อยไปรวบรวมมากี่ขั้นตอน ไก่วันนี้ถูกแล้วอย่าให้เกษตรกรต้องมารับความเสี่ยง เรามีหน้าที่ต้องปกป้องความเสี่ยงให้เขา เอาหลายๆ กำไรมารับความเสี่ยงให้เขา"
มองสัมพันธ์ไทย-จีนยังมีอุปสรรค
ธนินท์ ยังมองสัมพันธ์ไทย-จีนจากนี้ไป ว่าอย่างไรก็ต้องมีอุปสรรค อย่าไปมองว่าโลกนี้ไม่มีอุปสรรค อุปสรรคเป็นอาหาร 3 มื้อ เป็นเรื่องปกติ อย่าไปมองว่าอุปสรรค คือ ปัญหา หรือศัตรู ธุรกิจยิ่งใหญ่เกี่ยวข้องกับโลกก็ยิ่งมีอุปสรรคมาก อย่าไปคิดว่ามีอะไรที่ราบรื่นในโลกนี้ไม่มี แม้กระทั่ง สตีฟ จ๊อบส์ เจ้าของแอปเปิ้ลยังเคยถูก ไล่ออก แต่เขาเป็นคนอัจฉริยะ ความกดดัน (pressure) ทำให้เขายิ่งสำเร็จ ถ้าไม่มีความกดดันนั้นอาจไม่สำเร็จ
"อุปสรรคหรือศัตรูคือยาหอม ชีวิตคือ การต่อสู้ คิดว่าเป็นปกติ เราก็ไม่เครียด ทำงาน ถือว่าไปเที่ยว คือ สนุก อย่าไปนับว่ากี่ชั่วโมง"
3 ธุรกิจสร้างอนาคตประเทศ
ธนินท์ ยังมองอนาคตประเทศไทย โดยเฉพาะ 10 ปีข้างหน้า ว่าต้องเร่งดำเนินการ 3 เรื่อง รถไฟความเร็วสูง รถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
"นายกฯ อยู่ๆ บอกให้ผมทำรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปพัทยา เพื่อให้ ประชาชนไปมาสะดวกที่สุด นี่คือโจทย์ที่ให้มา"
เป็นทหารที่มีวิสัยทัศน์ คุณสมคิด (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ก็รู้เรื่องเศรษฐกิจ ส่วนแบงก์ชาติต้องหาคนที่กล้าคิดมาสมดุลกับเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยน ต้องมีบทบาทรุกแบบไม่เสี่ยง ไม่ใช่รับอย่างเดียว หากเราเปลี่ยนไม่ทันจะแย่"
จะเห็นว่า อุตสาหกรรมกว่า 70% อยู่โซนตะวันออก สามารถใช้ประโยชน์ท่าเรือน้ำลึก อยู่ติดสนามบินอู่ตะเภาได้ ในโลกนี้หายาก ดังนั้นสนามบินอู่ตะเภาต้องเป็นพัฒนา ยกระดับสู่สนามบินพาณิชย์ขนาดใหญ่
ส่วน "รถไฟความเร็วสูง" ธนินท์ มองว่า ต้องผลักดันให้เกิด แม้ขาดทุนช่วงแรกก็ต้องสร้าง เพื่อให้ไทยมีความทันสมัย เข้ายุคสมัยใหม่ ไม่ต่างจากการสร้างรถไฟสมัยรัชกาลที่5
ขณะเดียวกัน ต้องผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ทำอย่างไรที่จะดึงเข้าไทยมาให้ได้ ไม่ปล่อยให้ไปอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ซึ่งนักลงทุนอยากไปประเทศเหล่านี้ เพราะเป็นตลาดใหม่ ยังไม่มีรถยนต์มากนัก
"ประธาน เอ็มจี ในเซี่ยงไฮ้ บอกผมว่า อีก 4 ปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกว่ารถยนต์ เพราะมันไม่มีอะไร มีแต่อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ แพงที่แบตเตอรี่ ชิ้นเล็กๆ แต่กำไรเยอะ พอรถไฟฟ้าเกิดเมืองไทย รถไม่มีคนขับเกิดใน ไทยแน่นอน มันคู่กัน แต่หากปล่อยให้ไปอยู่ ประเทศอื่นก็จะไม่กลับมาไทยแน่นอน ที่มีอยู่เดิมก็กินของเก่า และหมดไปในที่สุด เหมือนกล้องถ่ายรูป ฟิล์ม จะหมดช้าหรือเร็ว"
แนะรัฐดึงลงทุนสหรัฐ-จีนเข้าไทย
ฉะนั้น รัฐบาลต้องกล้าทุ่มดึงมาให้ได้ โดยเฉพาะสหรัฐ และจีน หาก 2 รายนี้มาไทย บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ก็ไม่กล้าไปจากเมืองไทย แต่หากเขาไม่มา บริษัทรถยนต์ที่มีเดิมก็ไปกันหมด เราก็จะค่อยๆ เหลือ แต่ซาก ใน 10 ปี
"แกนสำคัญคือนายกฯ และคุณสมคิด ท่านจะเอาไหม ไม่เอา ผมก็ไม่มีสิทธิ์ ผมเป็นนักธุรกิจจิ๋วๆ ผมทำรถไฟความเร็วสูง สร้างเศรษฐกิจตรงนี้ สร้างเมืองใหม่ เอาคน ทั่วโลกเก่งๆ มาเมืองไทยสัก 2 ล้านคน แล้วค่อยมาสร้างคนไทย ไม่ใช่มาปกป้องคนไทย วันนี้เราต้องไม่กลัวเอาคนเก่งมา เรา 68 ล้านคน เอามา 5 ล้านคน จะเป็นอะไรไป เพื่อมาใช้รถไฟความเร็วสูง วันนี้เราต้องไม่กลัวที่จะเอาคนเก่งมาให้สัญชาติไทย ไปเลย"
หนึ่งในแผนใหญ่ของซีพี คือ "สร้างเมืองใหม่" รถไฟความเร็วสูงเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหม่เท่านั้น
หุ่นยนต์ต้องเกิดช่วยต่อยอดธุรกิจ
เรื่องสำคัญ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ต้องเกิด เพราะจะต่อยอดขยายใหญ่แบบไม่มีที่สิ้นสุด
จากธุรกิจเกษตรเลี้ยงไก่ เวลานี้ซีพีมองไปถึงหุ่นยนต์และนวัตกรรมใหม่ ความคิดนี้เกิดขึ้นอย่างไร ธนินท์ อธิบายว่า ธุรกิจในเครือทั้งโทรศัพท์ ค้าปลีก คนละเรื่อง แต่พัวพันกัน แม้กระทั่งรถแทรกเตอร์ ซึ่งจริงๆ เป็นกึ่งหุ่นยนต์อัตโนมัติแล้ว
"ผมทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด และ รู้จริง ศึกษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ให้ก้าวทันโลก ชอบคบกับคนหนุ่มสาว ยอมเสียเวลาไปเจอกับคนเบอร์หนึ่ง อย่าง แจ็ค หม่า เจ้าของ อาลีบาบา เราอาวุโสกว่ายอมเป็นนักเรียน คือ จุดเด่นของผม ชอบเรียนรู้"
เป็นที่มาของแนวคิด ยกตัวอย่าง หุ่นยนต์ จะมาเปลี่ยนซีพีอย่างไร "เราเลี้ยงไก่ 3 ล้านตัว ใช้คนเลี้ยง 1-2 แสนคน ไม่ไหว ก้มๆ เงยๆ ดูว่ามีไก่ตายไหม น้ำพอไหม อาหาร อุปกรณ์พอหรือไม่ เผลอก็ ไม่ไหว แต่หุ่นยนต์สามารถเดินได้ 24 ชั่วโมง ไฟหมดก็ชาร์ตใหม่ อาหารหมด ส่องกล้องดูได้ หุ่นยนต์ไม่ฟ้องเราด้วยเพราะไม่มีชีวิต ไม่มีโอที มีแต่ค่าไฟ" จะเห็นว่าแนวโน้มหุ่นยนต์เป็น เมกะเทรนด์ที่สำคัญมาก จะทำให้คนไทยร่ำรวย ทำงานสบายขึ้น
ดังนั้น คนไทยรุ่นใหม่ต้องฉลาดขึ้น ภาคธุรกิจบริการยังมีความต้องการใช้แรงงานคน ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้อีกมาก ไม่ว่าจะการขนส่ง โลจิสติกส์ ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกมาก การส่งเสริมทักษะแรงงานคนต้องมุ่งไปที่ธุรกิจบริการ
"หุ่นยนต์ ไบโอเทคโนโลยี รถไฟ ความเร็วสูง หากเกิดจะทำให้คนไทยมี ความสุขมากขึ้น ทำให้โลกเล็กลง คนอยู่ระยองก็เหมือนอยู่กรุงเทพฯ ใช้ชีวิตที่นั่นค่าครองชีพถูกกว่า อากาศดีกว่า" อีกภารกิจสำคัญในประเทศไทย เครือซีพีกำลังวางแผนสร้าง "5 หมื่นเถ้าแก่" จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมีศักยภาพ
วิกฤติคือโอกาส
ประสบการณ์ธุรกิจของซีพี ตอกย้ำแนวคิดของ ธนินท์ ที่ทำให้มองทะลุว่า...โอกาสที่จะเปลี่ยนกลับมาไม่มีแล้ว"
เขายกตัวอย่างครั้งไปลงทุน "ไต้หวัน" ขณะนั้นมีปัญหากับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่มองว่าต้องเข้าตลาดไต้หวันที่มีการแข่งขันดุเดือดให้ได้ แม้จะได้มาร์เก็ตแชร์ เพียง 2% ของตลาดก็อยู่รอดแล้ว
"ตอนนั้นไต้หวันกำลังล้มละลาย เรามองวิกฤติคือโอกาส หากกำลังร่าเริง กำลังขยายตัว เราเข้าไปก็เหนื่อย แต่ทุกคนเพลียหมด เข้ามาตอนนี้โอกาสดีที่สุด จนอย่างไรก็ต้องกิน ไก่เราถูกสุด ถูกกว่าหมู ประเทศยิ่งจนยิ่งต้องการกินของถูก"
แนวคิดขณะนั้น มุ่งหน้าขยายตลาดประเทศกำลังพัฒนา หรือยากจน จึงจะสำเร็จ เป็นความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศจีนว่าซีพีจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
"ดูว่าเขาเปลี่ยนจากซ้ายเวียนมาขวา นี่คือพลังมหาศาลถ้าเวียนมาได้จริงผู้นำนี่มีพลังมหาศาลทำให้ประชาชนเห็นด้วยไม่งั้นล้ม เติ้งเสี่ยวผิง มีทั้งวิสัยทัศน์และพลังมหาศาล"
ตอนนั้นโอกาสจีนแผ่นดินใหญ่ยังไม่มีวี่แวว พอสหรัฐรับรองจีน วันนั้น เห็นโอกาสทันที จึงได้จับมือ Continental grain สหรัฐ เข้าไปจีนปี 1971 เลยไม่มีปัญหา ยุคนั้น Continental grain ซึ่งค้าทั่วโลก ยิ่งใหญ่ เงินมหาศาล"
ความเสี่ยงจีนตอนนั้นสูงพอควร ฉะนั้นต้องมองระยะยาวความเสี่ยงคุ้ม ไม่คุ้ม เพราะยังไม่เปิดประเทศมาก
"ผมมองทะลุว่า โอกาสที่จะเปลี่ยนกลับมาไม่มีแล้ว มองทุกเรื่องเป็นเรื่องพิเศษหมด ทุกครั้งที่ มีวิกฤติ มีโอกาส อย่าไปมองเฉพาะวิกฤติ ต้องไปหาโอกาส แต่ลำบากหน่อย อย่างวิกฤติเมืองไทย ปี 1997 ต่างชาติ มาโกยเงินเมืองไทย นี่คือโอกาส ฉะนั้น
จีนมีวิกฤติเมื่อไหร่ ผมนอกจากไม่ถอย ยิ่งจะเพิ่มเงินมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่ากลับไปไม่ได้แล้ว ประชาชนไม่เอาหรอก"
ซีพีเข้าไปจีนครั้งแรก "เซิ่นเจิ้น" ผลิตอาหารสัตว์ ที่ดินถูก รัฐบาลแทบจะให้ฟรี เพราะเราไปเป็นคนแรกที่สนับสนุนเขา ตอนนั้นเป็นที่ฮือฮา พร้อมขยาย 10 มณฑล ทำร่วมกับรัฐบาล และพันธมิตร ทุกอย่างจึงราบรื่น ขยายก่อนคนอื่นจะเห็นโอกาส "ในหุบเขามีนกกระจอกตัวนิดเดียวเป็นพระเจ้า เพราะไม่มีนกตัวใหญ่กว่า"
ถามว่าอะไรเป็นปัญหาใหญ่ของการเปิดตลาดจีนในช่วงนั้น ธนินท์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไรเลย ใหม่ๆ เป็นพระเอกคนเดียว เนื้อหอม ในเอเชียมีซีพีรายเดียว ไม่ต้องกลัวถูกโกง เพราะร่วมกับรัฐบาล โกงเงินไปก็ไม่มีของให้ซื้อ แต่ช่วงหลังเปิดประเทศแล้ว จากอยู่ๆ เราผูกขาดกับรัฐบาล เปิดให้ทุกคนเข้ามาเสรีทำให้การแข่งขัน พุ่งขึ้นหลายหมื่นโรงงานทันที จากช่วงบุกเบิก เสมือนการผูกขาดตลาด (ใน เมืองไทยเราไม่เคยผูกขาดกับรัฐบาล แต่จีนคือ การผูกขาดแท้จริง)
"20 ปีที่ซีพีเป็นพระเอกอยู่คนเดียว แต่ก็ขายได้น้อย คนไม่กินไก่มากเท่าวันนี้ เงินตราต่างประเทศเขาก็ขาด วันนี้คนละเรื่อง" สายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลยัง เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของ "ธนินท์" มีโอกาสได้พบปะผู้นำทุกคน ของจีน ไม่ว่าจะเป็น เติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมิง จูหรงจี เป็นส่วนหนึ่งของการได้พัฒนาโครงการซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ตัดสินใจขาย ทำให้วันนี้ เป็นโปรเจคมีมูลค่ามหาศาล
ผู้นำจีนต้องพบกับเรา เพราะเราเป็นรายแรก และลำบากมาด้วยกัน
"การเมืองผมไม่เป็น แต่รู้ว่านักธุรกิจต้องการความสงบ
หากวุ่นวายจะไปทำธุรกิจอะไร เราไม่ว่าเขาจะถูกหรือผิด นักธุรกิจต้องการความไม่วุ่นวาย ไม่แบ่งเป็น 2 พวก ตีกัน คือ โอกาสของเศรษฐกิจ
"รถไฟความเร็วสูงรถยนต์ไฟฟ้าหุ่นยนต์ สร้างอนาคตประเทศไทย"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2560