WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

INDUSอตตม สาวนายนก.อุตฯ ปรับบทบาท-โครงสร้างเพิ่มความคล่องตัวรองรับประเทศไทย 4.0 คาดเริ่มใช้ก.ค.60

     นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับบริบทดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสนับสนุนอุตสาหกรรมและวิสาหกิจทุกระดับให้สามารถเติบโต ทั้งด้านผลิตภาพ การมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

      “การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตั้งใจเห็นภาพกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น และกระจายงานสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve โดยจะดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับให้ก้าวไปด้วยกันด้วยมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม"นายอุตตม กล่าว

       ทั้งนี้ การปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 6 เดือนแรกของปี 2560 ที่สามารถดำเนินได้ทันที และระยะที่ 2 ภายในปี 2562 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองระยะต้องทำคู่ขนานกันไป

      ระยะแรกเป็นการปรับปรุงบทบาทของส่วนราชการระดับกรมต่างๆ จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มงาน ได้แก่

       (1) กลุ่มสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หน่วยงานอำนวยการและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (2) กลุ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการ ประกอบด้วยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ (3) กลุ่มสนับสนุนการประกอบการ ประกอบด้วยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ (4) กลุ่มขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบต้นน้ำ ประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและวัตถุดิบ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

     นายอุตตม กล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการจะมีการเสนอกรอบการปรับบทบาทและโครงสร้างใหม่ต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2560 เป็นอย่างช้า หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะสามารถใช้โครงสร้างใหม่ได้ในเดือนกรกฎาคม 2560

       ทั้งหมดจะปรับบทบาทให้มีความคล่องตัว เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ด้วยการผลิตภาพ มาตรฐานและนวัตกรรม อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและประชาชนโดยการถ่ายโอนงานด้านการอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงให้กับ Third Party และถ่ายโอนภารกิจที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชนของหน่วยงานจากส่วนกลางไปสู่หน่วยงานภูมิภาค

      สำหรับ ที่นำร่องไปแล้วในปี 2559 คือการถ่ายโอนงานตรวจรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จำนวน 50 จังหวัด และจะถ่ายโอนให้ครบทั้ง 76 จังหวัดในปี 2560 นอกจากนี้จะปรับเพิ่มบทบาทการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบประเภทแร่และโลหะเพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve

     ส่วนระยะที่ 2 จะมีการปรับปรุงกฎหมายเดิมและออกกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากอ้อยไปพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีมูลค่าสูง การจัดทำ พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม-แห่งชาติ ซึ่งแต่เดิมคือสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้มีเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา รวมถึงสามารถตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Special Delivery Unit) เพื่อให้บริการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     นอกจากนี้ ยังจะจัดทำ พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ และปรับโครงสร้างของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้กลายเป็นสำนักงานส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เพื่อครอบคลุมภารกิจการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภาพในทุกสาขาธุรกิจของประเทศ รวมถึงการเจรจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานทั้งหมดเพื่อตั้งเป็นสำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนด้วยการมีมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม และประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2579 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

      ทั้งนี้ การปรับบทบาทสถาบันเครือข่ายทั้ง 11 สถาบันของกระทรวงฯ จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต ดำเนินการโดยสถาบันยานยนต์ การพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน ดำเนินการโดยสถาบันยานยนต์และสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ดำเนินการโดยสถาบันไทย-เยอรมัน การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดำเนินการโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดำเนินการโดยสถาบันพลาสติก สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งทุกสถาบันมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที

         อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!