- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 08 January 2017 11:47
- Hits: 13355
สศอ.คาด MPI ปี 60 ขยายตัว 1% จากการลงทุนภาครัฐ-บาทอ่อนค่าหนุน
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสิรฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 60 จะขยายตัวได้ 1% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในช่วงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะไม่แย่ลงกว่านี้ และจากการเดินหน้านโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะส่งผลให้มีนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
สำหรับ ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีอุตสาหกรรม มองว่า มาจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เพิ่มการส่งออกมากขึ้น และจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ที่จะยกเลิก TPP ทำให้ไทยมีความเสี่ยงน้อยลง ประกอบกับการที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะมีการ re-location ในการเปลี่ยนฐานการผลิต ซึ่งเชื่อว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยเริ่มมีความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และจากต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงค์โปร์ หรือ ฟิลิปปินส์
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจาก Brexit รวมถึงต้องรอความชัดเจนจากนโยบายการค้าต่างประเทศของประธานธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ว่าจะมีแนวทางอย่างไร
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ย.59 ขยายตัว 3.8% สูงสุดในรอบ 43 เดือน
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ภาพรวมเดือน พ.ย.59 อยู่ที่ 109.61 ขยายตัว 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และขยายตัว 2.07%จากเดือน ต.ค.59 (MOM) โดยมีอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เป็นบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง น้ำมันปิโตรเลียม และรถยนต์ โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมในเดือน พ.ย.อยู่ที่ 66.71% ส่งผลให้ MPI ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 0.4%
ในเดือน พ.ย.59 การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ส่วนเหล็กแผ่นชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นในเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูง และการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าในกลุ่มยานยนต์เพื่อเตรียมผลิตรถยนต์หลังจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป
ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจาก Other IC และ Monolithic ตามความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ในสินค้าประเภทต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในสินค้าประเภท sensor, analog และ microprocessor
อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง การผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปลาแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง และปลาหมึกแช่แข็ง จากการส่งออกตามความต้องการบริโภคในตลาด USA และ ญี่ปุ่น เป็นหลัก รวมถึงสามารถแก้ปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งได้ดี จึงมีวัตถุดิบเพื่อผลิตมากขึ้น
น้ำมันปิโตรเลียม การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันก๊าด จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และราคาก๊าซ NGV และ LPG ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น
รถยนต์ การผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ เม็ดพลาสติก ที่การผลิตลดลง 19.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต LLDPE ,HDPE และ PP ที่ลดลงเนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร
แก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว การผลิตลดลง 14.56% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตกระจกแผ่นลดลง เนื่องจากมีการปิดซ่อมบ รุงเตาหลอมโรงงาน
น้ำดื่ม การผลิตลดลง 12.87% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากน้ำอัดลม และน้ำโซดา เนื่องจากอยู่ในช่วงไว้อาลัย และงดงานรื่นเริงต่างๆ
อินโฟเควสท์