- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 24 November 2016 10:55
- Hits: 3533
กนอ.เร่งเครื่องดึงนักลงทุนเข้านิคมฯเจาะกลุ่มอุตฯยานยนต์-ปิโตร-อิเล็กทรอนิกส์
แนวหน้า : นักลงทุนลังเล รอความชัดเจนนโยบายรัฐ ทำยอดขายพื้นที่นิคมฯปีงบประมาณ'58-59 วืดเป้า กนอ. เร่งประชาสัมพันธ์กระตุ้นนักลงทุน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ หวังปั๊มยอดขายปีงบประมาณ'60 ให้ได้ 3,000 ล้านไร่
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-กันยายน 2559) กนอ.มียอดขายพื้นที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 3,200 ไร่ ต่ำกว่าตั้งเป้าหมายที่วางไว้ 3,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขายแล้ว 2,622 ไร่ และส่วนหนึ่งยังมี นักลงทุนที่อยู่ระหว่างตัดสินใจจะซื้อพื้นที่อีกประมาณ 660 ไร่ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดขายพื้นที่มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมคลังสินค้าโลจิสติกส์ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมพลาสติก หนังเทียม ตามลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
"ช่วงนี้เป็นช่วงเร่งรัดการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้น ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนพัฒนาใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่ออนาคต ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่รอฟังความชัดเจนและติดตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมหรือไม่ ทำให้ช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ (กรกฎาคม-กันยายน 2559) การลงทุนชะลอตัว โดยมียอดขายอยู่ที่ 400 ล้านบาท จากปกติอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าไทย ยังคงเป็นเป้าหมายของนักลงทุนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป โดยปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-กันยายน 2560) กนอ.ตั้งเป้ายอดขายพื้นที่ลงทุน 3,000 ไร่ โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นอุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนการลงทุนปีหน้า ต่อเนื่อง" นายวีรพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ กนอ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสั่งซื้อข้าวสารหอมมะลิ ตามโครงการ "อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยชาวนาไทยขายข้าว" โดย กนอ. เชิญชวนให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศช่วยรับซื้อข้าวสารจากเกษตรกร โดยมี เป้าหมายยอดสั่งซื้อข้าวสารประมาณ 5,000 ตัน จาก 5,000 โรงงาน คาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะมียอดคำสั่งซื้อได้ประมาณ 70% คิดเป็นปริมาณ 3,500 ตัน ซึ่ง กนอ. จะดำเนินการจนถึงสิ้นปีนี้
นายวีรพงศ์ กล่าวว่าสำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งนิคม อุตสาหกรรมแปรรูปข้าว (ไรซ์ ซิตี้) นั้นขณะนี้กระทรวง อุตสาหกรรม สถาบันอาหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปข้าว เนื้อที่ 2,000 ไร่ ที่จังหวัดอ่างทอง ให้เป็นเมือง นวัตกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาค อาเซียนคาดจะแล้วเสร็จในปี 2560 สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 และตั้งเป้าเปิดตัวดำเนินงานเต็มรูปแบบภายในปี 2563