- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 02 November 2016 17:18
- Hits: 5090
สศอ.จ่อหั่นเอ็มพีไอปีนี้เหลือไม่ถึง 2% เหตุขาดปัจจัยใหม่ช่วยหนุน
แนวหน้า : นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.เตรียมพิจารณาปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิต อุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2559 ลงอีกครั้ง ในการแถลงครั้งถัดไปในรอบเดือนพฤศจิกายน 2559 จากปัจจุบันคาดการณ์ เอ็มพีไอปี 2559 ทั้งปีจะมีอัตราการ ขยายตัว 1-2% จากปี 2558 และอัตรา การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีอุตสาหกรรม) มีโอกาสเติบโตได้ประมาณ 1.5% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้จะเติบโต ที่ระดับ 1.5-2.5%
"อย่างไรก็ตาม สศอ.จะมีการติดตามปัจจัยทั้งข้อมูลในประเทศและต่างประเทศในเดือนตุลาคม ประกอบการทบทวนเอ็มพีไอปี 2559 นี้ อีกครั้ง เพราะยอมรับว่าเป้าหมายเอ็มพีไอที่คาดการณ์ว่าเติบโต 1-2% จากปี 2558 คงเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องมีปัจจัยบวกที่เป็นแรงส่งให้เอ็มพีไอในช่วง ที่เหลือของปี 2559 นี้เติบโตถึงเดือนละประมาณ 3.8-7.8% แม้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เอ็มพีไอจะเริ่มเป็นบวกแล้ว แต่ถ้ามองภาพรวมจนถึงสิ้นปี 2559 ยังไม่มีปัจจัยใหม่ทำให้เอ็มพีไอเติบโตแบบก้าวกระโดด จนสามารถชดเชยในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายได้เพียงพอ โดยเอ็มพีไอช่วง 9 เดือนของปี 2559 (มกราคม-กันยายน) มีการขยายตัวเพียง 0.06% อยู่ที่ระดับ 109.32" นายวีรศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้การปรับประมาณการเอ็มพีไอ ครั้งใหม่จะลดลง แต่เชื่อว่ายังคงขยายตัวเป็นบวกได้ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และ สิ่งทอ ที่ได้อานิสงส์จากความต้องการเสื้อผ้าชุดดำ เป็นจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับประเทศเกาหลีใต้ได้มีการประกาศยกเลิกมาตรการกีดกันการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทยแล้ว จึง ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) กลับเข้ามาแล้วประมาณ 1,000 ตัน คืดเป็นมูลค่าประมาณ 970 ล้านบาท ทำให้เอ็มพีไอไตรมาส 4 ปี 2559 น่าจะเป็นบวก จากไตรมาส 3 ปี 2559 ที่หดตัว 0.5% อยู่ที่ระดับ 106.07 จากช่วงเดียวกับปี 2558 อยู่ที่ระดับ 106.57 รวมทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ก็มีการปรับตัวดีขึ้น
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าว จึงมองแนวโน้มเอ็มพีไอในปี 2560 น่าจะเติบโตได้มากกว่า 2% รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่มีการลงทุนจากภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับ ดัชนีเอ็มพีไอเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับ 107.77 ขยายตัว 0.6% จากอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 41.46% เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้น 25.29% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 7.16% เครื่องใช้ ในบ้านเรือน เพิ่มขึ้น 11.83% เยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษแข็ง เพิ่มขึ้น 13.39% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 65.23%
สศอ.เตรียมทบทวนเป้า MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งปี 59 หลังเดือน ก.ย.ต่ำกว่าคาด
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตวสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.อาจจะมีการทบทวนเป้าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งปี และ ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมปี 59 จากเดิมที่คาดว่า MPI ทั้งปีจะเติบโต 1-2% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 1.5-2.5% แต่ก็มั่นใจว่าทั้งปีจะยังเป็นบวก
"คงต้องทบทวนเพราะต่ำกว่าคาดการณ์อยู่พอสมควร เดือนหน้า (ต.ค.59) จะได้ตัวเลขที่ประมาณการที่ใกล้เคียงมากขึ้น คงจะเห็นชัดขึ้นแต่เป้าเดิมตอนนี้อาจจะยาก แต่เราก็ยังคงหวังทั้ง MPI และ GDP แต่จากตัวเลข 9 เดือนทำให้ MPI ทั้งปีอาจต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังเป็นบวก แต่จะบวกมากหรือบวกน้อย...แนวโน้มต.ค.เราก็ยังเชื่อว่าจะขยายตัว เพราะจะเป็นช่วงที่มีการผลิตค่อนข้างสูงเพื่อส่งมอบเป็นสต็อกสำหรับขายในช่วงปลายปีของสินค้าทั่วโลก ดูจากดัชนี PMI ของต่างประเทศปีนี้ค่อนข้างดีจากปีที่แล้วที่ค่อนข้างเงียบเหงา"นายวีรศักดิ์ กล่าว
รองผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายสัญญาณการฟื้นตัวในประเทศมีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ จักรยานยนต์ ประกอบกับช่วงปลายปีมีเรื่องโบนัสที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นกำลังการซื้อ แต่ก็อาจจะกระทบในส่วนของภาคบริการจากบรรยากาศในช่วงที่ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น อาจจะทำให้คนซึมๆ ไม่อยู่ในอารมณ์รื่นเริง แต่ภาคการผลิตคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้ว่าบางอุตสาหกรรมอาจชะลอไป แต่ก็อาจจะไปเพิ่มในอีกอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ในส่วนของเมกะโปรเจ็คที่ใกล้จะดีลจบหลายโครงการ รวมทั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ หากตัดสินใจลงมือเมื่อใดก็น่าจะมีผลบวกต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งหมด ดังนั้น จึงเชื่อว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ในเชิงภาคอุตสาหกรรม
ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ มองว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว และหากการเมืองสหรัฐฯไม่เปลี่ยนขั้ว โดยพรรคเดโมแครตยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายต่างๆ ก็คงไม่เปลี่ยนแปลง
ด้านนายอิทธิชัย ยศศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.กล่าวว่า หากจะทำให้ MPI เติบโตในระดับ 1% ช่วง 3 เดือนสุดท้ายที่เหลือ MPI จะต้องเติบโตระดับ 3.8% ทุกเดือน แต่หากจะเติบโต 2% ในช่วงที่เหลือก็จะต้องเติบโตเดือนละสูงถึง 7.8% ซึ่งก็ยังมีประเด็นที่ยังเป็นความหวังให้ MPI และ GDP เติบโตได้ตามเป้า คือ การนำเข้าวัตถุดิบเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 2 แล้ว และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็บวกเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน และเมื่อมาดูในรายตลาดทุกตลาดเป็นบวกหมด แม้แต่อียูและจีนที่เคยติดลบ และอาเซียน ขณะนี้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองเป็นบวกทุกตลาด
ทั้งนี้ ช่วงที่เหลือของปีมองว่าจะมีเรื่องของเสื้อผ้าสิ่งทอ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสีดำเข้ามาช่วยอย่างน้อยก็ 2-3 ไตรมาส ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ไม่มีปัญหาในตัวโครงสร้างหรือพื้นฐานของอุตสาหกรรม
อินโฟเควสท์