- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 06 October 2016 10:08
- Hits: 2316
สศอ. เผย MPI เดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 40 เดือน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.1 สูงที่สุดในรอบ 40 เดือน
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือน สิงหาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.1 สูงที่สุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ส่งสัญญาณแนวโน้มการเติบโตจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาล ด้วยแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจจากการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ที่ขยายตัว อาทิ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สำหรับ สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่
เครื่องปรับอากาศ การผลิตเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.94เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเครื่องปรับอากาศขยายตัวเพิ่มขึ้น
หลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดีในสินค้าที่เกี่ยวกับรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สื่อสาร
ผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.45เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการขยายตลาดไปยังลูกค้าแถบตะวันออกกลาง
เหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยบวกสำคัญจากการที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการบ้านประชารัฐต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในการรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้น
เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน จากสินค้าพัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า การผลิตเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.23 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีการส่งเสริมการขายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศซึ่งทำตลาดส่งออกได้มากขึ้น
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ การผลิตเดือนสิงหาคมลดลงร้อยละ 11.42 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับการปรับโฉมรถรุ่นใหม่
เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) การผลิตเดือนสิงหาคมลดลงร้อยละ 15.97 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการประสบภาวะซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรป กอรปกับการที่ลูกค้าสำคัญได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักสำคัญที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2559ได้แก่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ขณะที่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น IC เป็นต้น เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตในไตรมาส 4/2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1 ถึง 3 เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้นในสินค้าสำคัญ เช่น ข้าวและธัญพืชผักและผลไม้และปศุสัตว์
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตในไตรมาส 4/2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ แต่จะลดลงทั้งในกลุ่มผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป