- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 07 September 2016 20:09
- Hits: 6969
SMEs แห่ขอความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านศูนย์ SME Rescue Center มากกว่า 1,700 ราย
รอจัดสรรงบก้อนใหม่ 2,000 ล้าน ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทย
ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เผยข้อมูลสถิติ SMEs ทั่วประเทศยื่นเรื่องร้องขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ฯ ในรอบกว่า 1 เดือน มากกว่า 1,700 ราย และแก้ปัญหาได้แล้ว 17 ราย พบติดขัดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนครองแชมป์ขอความช่วยเหลือสูงสุด รองลงมาได้แก่ปัญหาด้านการตลาดและการผลิต ด้าน ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ระบุ รอกระทรวงการคลังจัดสรรงบเพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือแก่ SMEs ให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท แบบปลอดดอกเบี้ยและกำหนดระยะเวลาคืนเงินกู้ไม่เกิน 5-7 ปี เชื่อจะช่วยแก้ปัญหา SMEs ได้รวดเร็วขึ้น เพื่อพลิกฟื้นสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ครบ 1 เดือน เพื่อเป็นช่องทางการรวบรวมปัญหาและแนวทางการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ที่ขาดปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเข้มแข็งและธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ยื่นเรื่องร้องขอความช่วยเหลือผ่านจุดบริการทั่วประเทศผ่านหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงสถิติในรอบกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา นับจากเริ่มเปิดศูนย์ฯ วันที่ 21 กรกฎาคม - 5 กันยายน 2559พบว่า มีผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือมาทั้งสิ้น 1,075 ราย 2,060 เรื่อง โดยมีผู้ประกอบการ SMEs จากกรุงเทพฯ ร้องขอความช่วยเหลือสูงสุด จำนวน 85 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา 71 ราย จังหวัดแพร่ 60 ราย จังหวัดอุบลราชธานี 34 ราย จังหวัดเพชรบูรณ์ 31 ราย และส่วนใหญ่เป็นการร้องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาด้านการเงินที่ขาดแคลนเงินทุน เป็นจำนวน 920 ราย หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนผู้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ปัญหาด้านการตลาด จำนวน 427 ราย คิดเป็น 21% ปัญหาด้านการผลิต จำนวน 284 ราย คิดเป็น 14% และด้านการบริหาร จำนวน 157 ราย คิดเป็น 7% ที่เหลือเป็นด้านมาตรฐานสินค้า ด้านคดีความและด้านอื่นๆ ตามลำดับ
“จากจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ได้ยื่นร้องขอความช่วยเหลือเข้ามานั้น ทางศูนย์ฯ สามารถให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูให้แก่ผู้ประกอบการให้กลับมาเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้แล้ว 37 ราย และมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 1,739 ราย ที่อยู่ในขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับด้านการขาดแคลนเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ”นายสนธิรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาด้านการขาดแคลนเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในประกอบธุรกิจจะรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับงบประมาณก้อนแรก 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ จะได้กำหนดหลักเกณฑ์รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนวงเงินการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูและผ่านการคัดกรองจากศูนย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าในเบื้องต้นหลักเกณฑ์การให้วงเงินสินเชื่อแบบปลอดอัตราดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีระยะเวลาให้กู้ 5-7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนกิจการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจต่อไป
ประชาสัมพันธ์โดยศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center)
สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : คุณพิภพ (ท้อป) โทร. 081-9298-864 Email : [email protected]