- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 21 July 2014 22:02
- Hits: 3232
สมอ.ปรับกระบวนการร่นเวลาให้ มอก.เดินหน้าเคาะประตู SME-โอท็อปสร้างมาตรฐานสินค้าสู้ตลาดสากล
นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)เปิดเผยว่า สมอ.ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างความคล่องตัวในการให้บริการ โดยปรับกระบวนการตรวจสอบเพื่อร่นระยะเวลาให้อนุญาตมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.)เหลือ 26 วัน จากเดิม 43 วัน พร้อมทั้งเดินหน้าโครงการ“เคาะประตูโรงงาน SMEs และร้านจำหน่าย"จูงใจผู้ประกอบการขอรับ มอก.ตั้งเป้าดึง SME-โอท็อปรับมาตรฐานเพิ่ม 5 พันรายภายในปีงบประมาณ 58
ทั้งนี้ สมอ.จะเปิดให้ภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมตรวจสมอมาตรฐานอุตสาหกรรม(IB) เพิ่มจากปีงบประมาณ 56 ที่มี 13 ราย เป็น 25 ราย รวมทั้งจะเพิ่มหน่วยตรวจสอบรับรอง(CB) แบ่งเป็นการเพิ่มห้องปฏิบัติการทดสอบจากเดิมที่มี 283 ราย เป็น 310 ราย และเพิ่มห้องปฏิบัติการสอบเทียบ จากเดิม 241 ราย เป็น 300 ราย ซึ่งจะช่วยให้การออกใบรับรองมาตรฐานต่างๆเร็วขึ้น
“สมอ.กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ สมอ.ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง สมอ.จะปรับเปลี่ยนบทบาทมาสู่การกำกับดูแลใน 3 ด้าน ได้แก่ การกำหนดมาตรฐาน การออกใบอนุญาต และการตรวจติดตามผลหลังการอนุญาต โดยจะเร่งผลักดันให้มีการถ่ายโอนงานการรับรองผลิตภัณฑ์ให้แก่ CB และ IB ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น"นายอุฤทธิ์ กล่าว
หลังจากการกระจายงานไปสู่หน่วยตรวจสอบรับรองภาคเอกชนมากขึ้นแล้ว สมอ.จะวางแนวทางการพัฒนาในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติให้เป็นหน่วยงานสมรรถนะสูงในการเป็นผู้นำกำหนดมาตรฐานแห่งชาติ และมีบทบาทนำในการร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เพื่อให้ข้อแนะนำและชี้ช่องทางในการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายบทบาทของ สมอ.ในการเชื่อมอุตสาหกรรมไทยสู่สากลให้ได้ในระยะต่อไป
นอกจากนี้ จะเร่งรัดดำเนินการเพื่อสร้างการยอมรับใน มอก.ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมาย มอก.อย่างเต็มที่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค การขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และเพิ่มปริมาณการค้าของไทยในเวทีโลก ท่ามกลางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ที่มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายอุฤทธิ์ กล่าวว่า สมอ.ได้รับงบประมาณกว่า 730 ล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 54-57 เพื่อเป็นงบลงทุนนำไปซื้อเครื่องมือให้กับหน่วยทดสอบต่างๆ ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และอบรมเพื่อให้ความรู้กับโอท็อป เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทยรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)
ในส่วนของการตรวจจับและป้องกันการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น สมอ.จะทำโครงการ“เคาะประตูโรงงาน SMEs และร้านจำหน่าย"เป็นมาตรการการเข้มงวดบังคับใช้กฏหมาย สมอ.เพื่อป้องกันการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค โดยจะเริ่มจากการฝึกอบรมเพิ่มเติมและแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อออกตรวจโรงงานและร้านจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากการตรวจจับกุมผู้ทำผิดกฏหมายแล้ว จะต้องจูงใจให้ผู้ประกอบการที่ทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าสู่กระบวนการสร้างมาตรฐานการผลิตสินค้าคุณภาพ ภายใต้เครื่องหมาย มอก.
สำหรับ การตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในปีงบประมาณ 57 ได้ลงไปตรวจสอบติดตามผู้ที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 2,142 ครั้ง จำนวน 1,970 ราย ตรวจสอบควบคุมสถานที่จำหน่าย 387 ครั้ง จำนวน 444 ราย โดยได้ยึดอายัดผลิตภัณฑ์ 60 ราย สูงกว่าปีงบประมาณ 56 ทั้งปีที่มียอดอายัด 34 ราย
ขณะที่อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน(โอท็อป) จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ สมอ.จะให้การดูแลสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาต่อยอดให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งของตนเองและภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ โดยจะทำงานเชิงรุกเพื่อจูงใจให้โอท็อปขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)มากขึ้นอีก 5,000 ราย ภายในปีงบประมาณ 58 จากปัจจุบันที่รับรองไปแล้ว 58,000 ราย สมอ.จะทุ่มเทงบประมาณ บุคลากร และร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศ
อินโฟเควสท์