- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 18 July 2014 21:52
- Hits: 3433
ตัวเลข 5 เดือนแรกขยับเป็นบวก-ทั้งยอดส่งออก-การลงทุน
แนวหน้า : ตัวเลข 5 เดือนแรกขยับเป็นบวก-ทั้งยอดส่งออก-การลงทุน ธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มฟื้นไข้
สสว.รายงานสถานการณ์ เอสเอ็มอี 5 เดือนแรก ภาพรวมตัวเลขออกมาสวย ทั้งยอดส่งออกการจัดตั้งกิจการใหม่ และการลงทุน กลุ่มอาเซียน ยังเป็นตลาดหลัก สินค้ากลุ่ม อัญมณี และเครื่องประดับ พลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้า โดดเด่น กิจการเปิดตัวใหม่มากที่สุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ขายส่งเครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รายงานสถานการณ์ ของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2557 (ม.ค.-พ.ค.) โดยระบุว่า ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของเอสเอ็มอี สถานการณ์โดยภาพรวมเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ผลจากปัญหาทางการเมืองของไทยคลี่คลายลง ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มที่ดี ส่งผลดีต่อการส่งออกของผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอี 5 เดือนแรก พบว่ามีทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกมีมูลค่ารวม 757,526 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน และคิดเป็น 25.3 % ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนเดือนพฤษภาคม การส่งออกของเอสเอ็มอีมีมูลค่า 157,987 ล้านบาท ขยายตัว 17.7 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา และขยายตัว 11 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
สำหรับตลาดหลักที่เอสเอ็มอีส่งออกสินค้าในช่วง 5 เดือนแรกสูงสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 212,502 ล้านบาท คิดเป็น 28.1% ต่อมูลค่าการส่งออกรวมของเอสเอ็มอี รองลงมาคือจีน มูลค่า 84,426 ล้านบาท คิดเป็น 11.1 % กลุ่มสหภาพยุโรป (EU-27) มูลค่า 78,257 ล้านบาท คิดเป็น 10.3 % ญี่ปุ่น มูลค่า 72,736 ล้านบาท คิดเป็น 9.6 % และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 57,474 ล้านบาท คิดเป็น 7.6 % ที่สำคัญทุกกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักดังกล่าว การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2.7-12.9 % ส่วนสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและของที่ทำด้วยยาง
ส่วนการนำเข้าของเอสเอ็มอี 5 เดือนแรก มีมูลค่า 865,816 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.5 % และคิดเป็นสัดส่วน 28.1 % ของการนำเข้ารวม โดยเดือนพฤษภาคม การนำเข้าสินค้าของเอสเอ็มอีมีมูลค่า 179,913 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.6 % และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา 2.19 % ตลาดที่เอสเอ็มอีนำเข้าสินค้าช่วง 5 เดือนแรกสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่ารวม 229,780.27 ล้านบาท คิดเป็น 26.5 % ต่อมูลค่าการนำเข้ารวมของเอสเอ็มอี รองลงมาคือกลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 131,117 ล้านบาท คิดเป็น 15.1 % ญี่ปุ่น มูลค่า 123,132 ล้านบาท คิดเป็น 14.2 % กลุ่มสหภาพยุโรป (EU-27) มูลค่า 103,398 ล้านบาท คิดเป็น 11.9 % และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 52,713 ล้านบาท คิดเป็น 6.1 % สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ
ส่วนด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการเอสเอ็มอี 5 เดือนแรก พบว่ามีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 24,267 ราย หดตัวลง 20.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่เดือนพฤษภาคม มีกิจการจัดตั้งใหม่ 4,583 ราย เพิ่มขึ้น 7 % จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา 7 และทุนจดทะเบียนของกิจการจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 20,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 17 %
สำหรับประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด 5 เดือนแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการมี 4,564 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.1 % ขณะที่เดือนพฤษภาคม มีการยกเลิกกิจการรวม 833 ราย หดตัวลงจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา 0.5 % และทุนจดทะเบียนของกิจการที่ยกเลิกมีมูลค่า 3,331 ล้านบาท หดตัวลงจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา 12 % ประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรก ได้แก่ การขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย
อย่างไรก็ตาม การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จึงคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอีตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะมีทิศทางดีขึ้น โดยในส่วนของ สสว. ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการต่างๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดลกลางและขนาดย่อม โครงการยกระดับผู้ประกอบการโอทอปที่มีศักยภาพก้าวไปสู่เอสเอ็มอี โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โครงการประกวดสุดยอดเอสเอ็มอีแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เชื่อว่าการดำเนินงานต่างๆ จะเป็นส่วนสำคัญช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินกิจการได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป.
สสว. เผย SMEs มีสัญญาณฟื้นตัว
บ้านเมือง : รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-พฤษภาคม) ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ผลจากปัญหาทางการเมืองของไทยคลี่คลายลง ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มที่ดี ส่งผลดีต่อการส่งออกของผู้ประกอบการไทย
เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านการส่งออก ซึ่งมีมูลค่ารวม 757,526 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 7.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม สำหรับเดือนพฤษภาคม การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 157,987 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา และขยายตัวร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
โดยตลาดหลักที่ SMEs ไทย ส่งออกสินค้าในช่วง 5 เดือนแรก สูงสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศ ASEAN มีมูลค่า 212,502 ล้านบาท คิดเป็น 28.1% ต่อมูลค่าการส่งออกรวมของ SMEs รองลงมาคือ จีน กลุ่มสหภาพ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญทุกกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักดังกล่าว การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 2.7-12.9 ส่วนสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและของที่ทำด้วยยาง
ในด้านการนำเข้าของ SMEs ช่วง 5 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 865,816 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.5% และคิดเป็นสัดส่วน 28.1% ของการนำเข้ารวม โดยเดือนพฤษภาคม การนำเข้าสินค้าของ SMEs มีมูลค่า 179,913 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.6% และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา 2.19% ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าช่วง 5 เดือนแรกของปีสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่ารวม 229,780.27 ล้านบาท คิดเป็น 26.5% ต่อมูลค่าการนำเข้ารวมของ SMEs รองลงมา คือ กลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศรวมถึงสถานการณ์ของ SMEs จะมีทิศทางที่ดีขึ้น