WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สสว. รายงานสถานการณ์ SMEs 5 เดือนแรกปี 2557

     สสว. เผยสถานการณ์ SMEs 5 เดือนแรกของปี 2557 สัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น ผลจากการเมืองคลี่คลายกระตุ้นการบริโภคในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในกลุ่มคู่ค้าหลักปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการค้าระหว่างประเทศขาดดุลลดลง ตลาดส่งออกหลักทั้ง อาเซียน จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณี พลาสติก เครื่องจักร

     รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-พฤษภาคม) ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ผลจากปัญหาทางการเมืองของไทยคลี่คลายลง ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มที่ดี ส่งผลดีต่อการส่งออกของผู้ประกอบการไทย

     เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านการส่งออก ซึ่งมีมูลค่ารวม 757,526 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 7.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม สำหรับเดือนพฤษภาคม การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 157,987 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา และขยายตัวร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

    ตลาดหลักที่ SMEs ไทย ส่งออกสินค้าในช่วง 5 เดือนแรก สูงสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศ ASEAN มีมูลค่า 212,502 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.1 ต่อมูลค่าการส่งออกรวมของ SMEs รองลงมาคือ จีน มีมูลค่า 84,426 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.1 กลุ่มสหภาพยุโรป ( EU-27) มูลค่า 78,257 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.3 ญี่ปุ่น มูลค่า 72,736 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.6 และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 57,474 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.6  ที่สำคัญทุกกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักดังกล่าว การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 2.7-12.9 ส่วนสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและของที่ทำด้วยยาง

    ในด้านการนำเข้าของ SMEs ช่วง 5 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 865,816 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.1 ของการนำเข้ารวม โดยเดือนพฤษภาคม   การนำเข้าสินค้าของ SMEs มีมูลค่า 179,913 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.6 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ร้อยละ 2.19 ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าช่วง 5 เดือนแรกของปีสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่ารวม 229,780.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.5 ต่อมูลค่าการนำเข้ารวมของ SMEs รองลงมา คือ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 131,117 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.1 ญี่ปุ่น มูลค่า 123,132 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 14.2 กลุ่มสหภาพยุโรป (EU-27) มูลค่า 103,398 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.9 และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 52,713 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.1 สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ

     ในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการ SMEs ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-พฤษภาคม) พบว่า มีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 24,267 ราย หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.8 ขณะที่เดือนพฤษภาคม มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 4,583 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ร้อยละ 7 และทุนจดทะเบียนของกิจการจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 20,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 17 ประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุดในช่วง 5 เดือนแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย 

     ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการ มีจำนวน 4,564 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.1 ขณะที่เดือนพฤษภาคม มีการยกเลิกกิจการรวม 833 ราย หดตัวลงจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ร้อยละ 0.5 และทุนจดทะเบียนของกิจการที่ยกเลิกมีมูลค่า 3,331 ล้านบาท หดตัวลงจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ร้อยละ 12 ประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรก ได้แก่ การขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย

     อย่างไรก็ดี การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จึงคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศรวมถึงสถานการณ์ของ SMEs ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในส่วนของ สสว. ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการต่างๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดลกลางและขนาดย่อม  โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพก้าวไปสู่ SMEs โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โครงการประกวดสุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 6 (6th SMEs National Award) ฯลฯ เชื่อว่าการดำเนินงานต่างๆ ดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ SMEs สามารถดำเนินกิจการได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!