WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สถาบันการเงินรัฐ-แบงก์อัดฉีดเอสเอ็มอี หมุนเงินเข้าระบบ 5 แสนล.

      แนวหน้า : บสย.จับมือสมาคมธนาคารไทย สภาแบงก์รัฐ สนองนโยบายคสช. ร่วมวงช่วยเอสเอ็มอี ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อ 5.5 หมื่นล้านบาท  สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาทด้านออมสินเตรียมชงคสช.ตั้งกองทุน2-3 หมื่นล้านบาทแก้หนี้นอกระบบ

     นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่าได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มอบนโยบายให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดย บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านโครงการค้ำประกันระยะที่ 5 (PGS 5) วงเงิน 55,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระชำระ ค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ในปีแรก คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ประมาณ 11,000 ราย ส่งผลให้เม็ดเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.7 เท่าของวงเงินค้ำ หรือราว 1 แสนล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 500,000 ล้านบาท

    นอกจากนี้ บสย.เตรียมลงนามร่วมมือกับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ 22 แห่งในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เพื่อเปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย( Micro Entrepreneurs)วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาทและโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ

    โอท็อปและวิสาหกิจชุมชนวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาทคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 50,000 รายช่วยสร้างอาชีพให้กับธุรกิจในครัวเรือนประมาณ 150,000 คน ลดต้นทุนการกู้ยืมเงินนอกระบบประมาณ 15-30%  ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 48,500 ล้านบาท

    “ทั้ง 3 โครงการคสช.อนุมัติมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อนั้น เริ่มมาตั้งแต่ที่ คสช.อนุมัติแล้ว ส่วนอีก 2 โครงการที่เหลือคงต้องรอลงนามกับธนาคารทั้ง 22 แห่งก่อนที่จะเปิดให้ลูกค้ามาขอสินเชื่อ โดยโครงการทั้ง 3 นี้กำหนดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมนี้” นายวัลลภ กล่าว

    นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการที่ใช้การค้ำประกันสินเชื่อเป็นจำนวนไม่น้อย จึงได้ร่วมมือกับบสย.เข้าช่วยเหลือดังกล่าว โดยรัฐบาลช่วยรองรับค่าใช้จ่ายปีแรก เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเป็นแรงกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

    ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะเติบโตดีขึ้นเพราะการเมืองในประเทศมีความสงบหลังจากคสช. เข้ามาบริหารประเทศโดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะโตได้ถึง 4% และจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดของคสช. จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ 2% ส่งผลให้สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้เพิ่มเป็น 8-10% จากเดิมที่คาดไว้ 4-5%

   "สินเชื่อของระบบแบงก์พาณิชย์ ปกติจะโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น การใช้จ่ายและความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐมีการใช้จ่ายลงทุน ภาคเอกชนมีการลงทุนควบคู่ไปด้วยหลังจากที่มีความมั่นใจ ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น" นายบุญทักษ์ กล่าว

   ขณะที่นายธัชพล กาญจนกูล ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กล่าวว่า บสย.จะเข้ามาร่วมลงนามขับเคลื่อนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามนโยบายของคสช.ที่ให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ จากที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ลงนามไปแล้วกับ 6 พันธมิตรในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อส่งมาให้พิจารณาสินเชื่อในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจากเอสเอ็มอีในระบบมีกว่า 2.9 ล้านราย และพบว่า 2.3 ล้านรายเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนซึ่งในส่วนของออมสินเองก็มีมาตรการสนับสนุนผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ ซึ่งขณะนี้มีทยอยขอสินเชื่อแล้ว 2,000-3,000 ราย เราพร้อมเดินหน้าโครงการเต็มที่ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทย

  นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมเสนอแผนแก้หนี้นอกระบบแบบครบวงจรให้คสช.พิจารณาในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้โดยจะเสนอให้ตั้งกองทุนมูลค่า 2-3 หมื่นล้านบาท และให้ธนาคารของรัฐเข้ามาร่วมลงทุน  จัดตั้งสำนักงานหรือศูนย์แก้หนี้นอกระบบขึ้นมาเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยเฉพาะ มีเป้าหมายให้การแก้หนี้นอกระบบให้ประสบความสำเร็จ 50 %  ของยอดคนที่มาลงทะเบียน เพราะจากสถิติการแก้หนี้นอกระบบที่ผ่านมาจะมีคนแก้หนี้สำเร็จราว 20 % ที่เหลือ 80 % เป็นกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะไม่มีอาชีพ บางรายยังติดการพนัน

     นอกจากนี้ จะเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย  ( ธปท. ) ปรับเกณฑ์การตั้งสำรองลูกหนี้กลุ่มนี้โดยขอใช้เกณฑ์ของกระทรวงการคลังคือ ถ้าค้างชำระหนี้ 3 เดือน ให้สำรอง 20 %  ค้าง 6 เดือนสำรอง 50 %  และค้างหนี้ 12 เดือน สำรอง 100 % เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะหากให้ค้างชำระหนี้ 3 เดือน แล้วตั้งสำรอง 100 % จะไม่จูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้

บสย.โชว์แผนอุ้มสินเชื่อเอสเอ็มอี ออมสินเร่งสางหนี้นอกระบบ

      ไทยโพสต์ : พระรามหก * บสย.คลอดมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท อุ้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แบงก์พาณิชย์ ขยับเป้าสินเชื่อ ออมสินชง คสช. พิจารณาแผนแก้หนี้นอกระบบ

    นายวัลลภ เดชะไพบูลย์ กรรม การและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประ กันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้ร่วมมือ กับสมาคมธนาคารไทย และสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เดินหน้า แผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประ กอบการเอสเอ็มอี โดยการออกมาตร การฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อในปีแรกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็ม อี ผ่านโครงการ GPS5 วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระชำระค่าธรรมเนียมในปีแรก วงเงิน 926 ล้านบาท

   ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ราว 2 หมื่นราย และจะส่งผลให้มีเม็ดเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าของวงเงินค้ำประกัน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีวงเงินหมุน เวียนสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท

   ด้านนายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการผู้อำนวยการธนา คารออมสิน ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 2 ล้านราย หรือคิดเป็น 55% จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.7-2.9 ล้านราย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน การขาด ทักษะความรู้ด้านการตลาด และหลักประกันไม่เพียงพอ ในส่วนนี้ มองว่าหากมีการผลักดันให้ผู้ประ กอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น จะช่วยขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้นด้วย

   ขณะเดียวกัน ธนาคารออม สินก็เตรียมปรับเป้าสินเชื่อปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6-7% หรือประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งเป้า 4.5% หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เนื่อง จากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จะขยายตัวได้ดีถึง 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงการ ใช้จ่ายของภาครัฐที่กลับมามีประสิทธิ ภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะสนับสนุนให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ถึง 2%

     พร้อมกันนี้ ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ธนาคารเตรียมเสนอแผนแก้หนี้นอกระบบแบบครบวงจรให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา โดยจะเสนอให้ตั้งกองทุนมูลค่า 2-3 หมื่นล้านบาท และให้ธนาคารของรัฐเข้ามาร่วมลงทุน และให้มีการตั้งสำนักงานหรือศูนย์แก้หนี้นอกระบบขึ้นมาเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีเป้าหมายให้การแก้หนี้นอกระบบประสบความสำเร็จ 50%  ของยอดคนที่มาลงทะเบียน

   ขณะเดียวกัน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนา คารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนา คารไทยเตรียมปรับเป้าหมายภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 8-10% จากเดิมตั้งเป้าที่ 4-5% เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

   ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยินดีเข้าร่วมโครงการของ บสย. เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นผู้จ้างงานในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 80%.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!