- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 05 May 2016 19:07
- Hits: 5967
สมอ.คุมเข้มปลั๊กเต้ารับ-เสียบ หลังพบสินค้าไร้มาตรฐาน-ทำไฟช็อต
แนวหน้า : นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ.เตรียมกำหนดให้ปลั๊กเต้ารับ และปลั๊กเต้าเสียบ ต้องได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ภาคบังคับ จากปัจจุบันที่ใช้เป็นมาตรฐานทั่วไป
ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้มีปลั๊กเต้ารับ และปลั๊กเต้าเสียบ ที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยผู้บริโภค เห็นได้จากสถิติที่เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากปลั๊กที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นอันดับต้นๆ เพราะ ผู้บริโภคหลายรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซื้อปลั๊กเต้ารับ และปลั๊กเต้าเสียบ ราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ โดยคาดว่าจะประกาศการบังคับใช้ภายในปี 2559 นี้
"ผมเจอมาเองกับตัว ซื้อปลั๊กเต้าเสียบที่ดูแล้วน่าจะมีมาตรฐานมาใช้ แล้วเกิดไฟช็อต บางทีเสียบไฟไม่เข้าบ้าง บางอันใช้ได้ไม่นานก็เสีย ซึ่งไทยยังไม่มีมาตรฐานบังคับตัวรางปลั๊กเต้าเสียบ ตอนนี้มีมาตรฐานบังคับเฉพาะสายไฟเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายก็สมอ้างว่า เป็นมาตรฐานบังคับทั้งรางปลั๊กทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคสับสน จึงต้องออกมาตรฐานบังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ที่ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานตามกำหนดเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของ ผู้บริโภค"นายธวัช กล่าว
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ หากคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีการอนุมัติรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องทำประชาพิจารณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอเป็นตราพระราชกฤษฎีกาต่อไป
สำหรับ มาตรฐานปลั๊กเต้าเสียบของประเทศไทย ต่อไปจะกำหนดให้ใช้เฉพาะ ขากลม 3 ขาเท่านั้น เนื่องจากเหมาะกับการใช้แรงดันไฟฟ้าในประเทศไทยที่ 220 โวลต์จากปัจจุบันประเทศไทยใช้หลายแบบ ไม่มี รูปแบบที่เป็นมาตรฐานของตัวเอง ทั้งขาแบน ขากลม 2 ขา 3 ขา ต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จะใช้ปลั๊กเต้าเสียบ เฉพาะขาแบนเท่านั้น เพราะเหมาะกับสภาพแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 110 โวลต์ ขณะที่ปลั๊กเต้าเสียบจะมีการตรวจสอบ เช่น ต้องเสียบแน่น, ไม่โยกเยก, วัสดุฉนวนต้องทนความร้อน, ความแข็งแรง, แรงที่ใช้ดึงเต้าเสียบ, ความต้านทานการเป็นสนิม
"หลังจาก สมอ.ออกเป็นมาตรฐานบังคับแล้ว ต่อไปผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ต้องขอใบอนุญาต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษปรับและจำคุก"นายธวัช กล่าว
ทั้งนี้ หลักการสังเกตคุณภาพของปลั๊กไฟเพื่อใช้งานอย่างปลอดภัย เช่น สายไฟสำหรับปลั๊กไฟฟ้าควรต้องมีฉนวน 2 ชั้น และห้ามใช้งานหากพบว่าฉนวนเปลือกนอกมีร่องรอยแตกหรือถลอก ไม่ควรใช้สายไฟที่มีการซ่อมหรือพันด้วยเทป เนื่องจากไม่ปลอดภัย, ปลั๊กเต้าเสียบและปลั๊กเต้ารับที่ดี เมื่อเสียบแล้วจะต้องแน่นพอควรและไม่หลวมง่าย เพราะเมื่อหลวมแล้ว แม้จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟน้อย ก็สามารถทำให้เกิดความร้อนและลุกไหม้ติดไฟได้
นอกจากนี้ สมอ.มีนโยบายเร่งออกมาตรฐานบังคับให้ มากขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับ โดยในปี 2559 นี้ สมอ.จะประกาศมาตรฐาน บังคับ เน้นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะประกาศมาตรฐานบังคับได้ 5 ผลิตภัณฑ์ เช่น หลอดไฟฟ้า ไส้ทังสเตน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปที่คล้ายกันต้องเป็นไปตามมาตรฐาน, กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า และเครื่องอบผ้า เป็นต้น