WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

INDUSอาทตย วฒคะโรเอกชนรวมตัวร้องเรียน-ผลสอบพบมีความผิดจริง-สั่งเชือดหลังสงกรานต์ ไล่ออกขรก.อุตฯรีดเงินโรงงาน

      แนวหน้า : ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับปัจจุบันยัง พบปัญหาทุจริตในระดับอุตสาหกรรมจังหวัด ล่าสุดตรวจพบความผิดหนึ่งราย หลังเอกชนรวมตัวร้องเรียน พบมีหลักฐานชัดเจน กก.ตรวจสอบระบุผิดจริง เตรียมมีคำสั่งให้ไล่ออก หลังสงกรานต์นี้ จัดทีมลงสแกนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นำร่องเชียงใหม่ และอีก 13 จังหวัดในภาคเหนือ

     นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จะได้ลงพื้นที่กับผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อติดตาม เร่งรัดการทำงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) เน้นให้บริการที่รวดเร็ว โปร่งใส และแก้ไขข้อร้องเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และล่าสุดเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของข้าราชการที่มีเอกชนร้องเรียนมาว่าได้เรียกรับ ผลประโยชน์ 1 ราย ซึ่งทางกลุ่มเอกชนได้รวมตัวกันร้องเรียน และพร้อมเป็นพยาน โดยมีหลักฐานชัดเจน มายื่นให้ตรวจสอบ ซึ่งหากคณะกรรมการตรวจสอบว่า ผิดจริงก็จะมีการพิจารณาไล่ออกหรืออาจให้ออกจากการเป็นข้าราชการ โดยจะมีการพิจารณาในหลังสงกรานต์นี้

     "ยอมรับว่า ปัจจุบันยังคงมีข้าราชการที่เรียกรับผลประโยชน์อยู่บ้างแต่น้อยลงกว่าในอดีต ดังนั้นหากเอกชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดนรังแกให้แจ้งมายังตนได้ และพร้อมที่ดำเนินการให้ได้รับโทษ" นายอาทิตย์กล่าว

     สำหรับ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-มีนาคม 2559) ได้มอบนโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติงานของ สอจ.ตามนโยบาย เร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวง หลายเรื่องหลาย แผนงาน/โครงการ ให้ สอจ.ร่วมขับเคลื่อน อาทิ โครงการปรับแผนธุรกิจ SME (Turn Around) ภาคการผลิต 7,000 ราย เพื่อช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาจากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว, การเร่งรัดในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการตั้ง/ขยายโรงงาน (ร.ง.4) ให้เปิดดำเนินการโดยเร็ว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้และจ้างงานใน ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะ 10 สาขาอุตสาหกรรม สำคัญ รวมทั้งอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อส่งเสริมการตั้งโรงงานแปรรูปยางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้ขายวัตถุดิบได้มากขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า

      รวมถึงการพิจารณาอนุญาตต่างๆ ที่เน้นความสะดวก โปร่งใสและรวดเร็ว, การเร่งรัดกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบไปทิ้งในที่สาธารณะและเกิดผลกระทบต่อชุมชน, การเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจการโรงงานเหมืองแร่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้รับข้อร้องเรียนบ่อยครั้งจากสังคมและชุมชน, ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการตรวจโรงงานที่ใช้วัตถุดิบจากการประมง ซึ่งปฏิบัติไม่ถูกต้องในการใช้แรงงานเถื่อน และโครงการนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตที่ได้รับการบำบัดนำมาใช้สนับสนุนภาคเกษตรกรรม เพื่อให้แก้ปัญหาภัยแล้ง

      "เท่าที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือการเร่งรัดปฏิบัติงานจาก สอจ. ต่างๆ อย่างไรก็ดียังมีปัญหาการร้องเรียนเข้ามาอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการกำกับดูแลผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากโรงงานและสถานประกอบการเหมืองแร่ อีกทั้งยังมีการเรียกรับผลประโยชน์ในพื้นที่โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ตรวจราชการจะลงไปติดตามผู้ปฏิบัติงานที่ยังเป็นจุดอ่อน ยังเป็นปัญหาและยังมีข้อครหา เพื่อให้การปฏิบัติของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในทุกจังหวัดมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีธรรมาภิบาล และได้รับการยอมรับจากสังคม โดยกำหนดแผนการ ตรวจเยี่ยมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "สอจ. การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย" 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค" นายอาทิตย์กล่าว

      โดยครั้งที่ 1 วันที่ 23-26 เมษายน 2559 ที่ จ.เชียงใหม่ กลุ่มเป้าหมายคืออุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม 13 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 2 วันที่ 10-12 พฤษภาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ กลุ่มเป้าหมายฯ 25 จังหวัดภาคกลาง ครั้งที่ 3 วันที่ 16-18 พฤษภาคม 2559 ที่ จ.อุบลราชธานี กลุ่มเป้าหมายฯ 24 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และครั้งที่ 4 วันที่ 1-3 มิถุนายน 2559 ที่ จ.สงขลา กลุ่มเป้าหมายฯ 14 จังหวัดภาคใต้ การตรวจติดตามงานทั้ง 4 ครั้งนี้ จะเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จับเข่าคุยกันระหว่างผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานเพื่อหาแนวทางที่ดีและเหมาะสมในการทำงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ให้เป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้บรรลุผลและได้ผลอย่างแท้จริง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!