- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 08 May 2014 23:32
- Hits: 4261
สศอ. เร่งเตรียมความพร้อมพัฒนาคนสู่อุตฯ ยานยนต์ รองรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน
สศอ.เล็งผลักดันโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน ในปี 2560 โดยเน้นส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ให้มีทักษะและองค์ความรู้ในระดับที่สูงขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ให้มีความรู้ความสามารถและผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างมีระบบ
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2556 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการผลิตรถยนต์ 2.45 ล้านคัน จัดเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2560 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน จึงต้องการบุคลากรรองรับในทุกระดับ ได้แก่ ระดับแรงงานมีฝีมือ ระดับหัวหน้างาน ระดับวิศวกรทดสอบและวิจัยพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีทักษะความสามารถและผลิตภาพ รวมทั้งมีองค์ความรู้ในระดับสูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ
ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการเป็นผู้ฝึกสอน (Trainer) หรือผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจประเมิน (Examiner) รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในระดับผู้ปฏิบัติงาน(Trainee) และการพัฒนาหลักสูตร (Cirricula) ให้ครอบคลุมใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาการผลิตและการบริหารจัดการ (Manufacturing) สาขาการประกันคุณภาพและการทดสอบ (Testing) และสาขาวิศวกรรมและวิจัยพัฒนา(R&D) โดยโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 โดยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระดับ 1st Tier , 2nd Tier และ 3rd Tier รวมทั้ง บุคลากรจากสถาบันการศึกษาของภาครัฐ และหน่วยงานราชการต่างๆ
สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรในปี 2557 ในสาขาการผลิตนั้น สำนักงานฯ และสถาบันยานยนต์ จะได้มีการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาผู้สอนในด้านการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต(Loss Reduction Process : LRP) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาในการผลิต สถานประกอบการสามารถลดต้นทุนในการผลิต โดยการกำจัดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตของแต่ละกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์หรือแต่ละสถานประกอบการ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป ถ้าสถานประกอบการนั้นสามารถแก้ไขปัญหา(ความสูญเปล่า) เหล่านี้บนพื้นฐานความรู้และเครื่องมือของสถานประกอบการนั้นๆ ได้ จะเกิดองค์ความรู้เฉพาะองค์กรหรือที่เราเรียกว่า Know How ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา (R&D) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ต่อไป
ซึ่งโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์จะส่งผลให้บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความรู้ความสามารถและผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างมีระบบ และทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย มีขีดความสามารถ ในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม