- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 28 February 2016 14:49
- Hits: 1474
ฟอกซ์คอนน์ของไต้หวันขอเลื่อนลงนามการเข้าควบกิจการชาร์ป
แนวหน้า ; โตเกียว/ไทเป (เอเอฟพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) บริษัทฟอกซ์คอนน์ ของไต้หวัน เลื่อนการลงนามเข้าควบกิจการของบริษัทชาร์ป หลังชาร์ปส่งข้อมูลล่าสุดที่จำเป็นต้องตรวจสอบ ก่อน อย่างไรก็ดี หากการควบกิจการนี้เดินหน้าได้จริง ก็จะนับเป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นถูกต่างชาติซื้อ
ชาร์ปได้ประกาศยอมรับข้อเสนอควบกิจการของฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือเรียกอีกชื่อว่า หงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรีย์ คอมปานี อันเป็นกิจการธุรกิจข้ามชาติของไต้หวัน ที่จะเข้าควบกิจการด้วยทุน 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 150,500 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม มีรายงานล่าสุดว่า ฟอกซ์คอนน์เพิ่งประกาศขอชะลอการลงนาม เนื่องจากทางชาร์ปได้นำส่งเอกสารบางตัวที่เป็นข้อมูลใหม่ให้กับฟอกซ์คอนน์ หลังจากที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าตกลงยอมรับ ข้อเสนอและจะมีการควบกิจการ ข่าวดังกล่าว ส่งผลให้หุ้นของชาร์ปดิ่งลงอย่างหนักถึง 15.5% ในการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์กรุงโตเกียวในวันศุกร์
รายงานข่าวระบุว่า ชาร์ป หนึ่งในกิจการอิเล็กทรอนิกส์เก่าแก่ของญี่ปุ่นมีสภาพทางธุรกิจย่ำแย่มานาน ผลประกอบการล่าสุดในช่วงเดือนเมษายนถึงธันวาคมปีที่แล้วขาดทุนถึง 918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่คาด รัฐบาลญี่ปุ่นเองได้พยายามช่วยเหลือชาร์ปมาโดยตลอด เนื่องจากเกรงว่าเทคโนโลยีที่ชาร์ปพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะในการทำจอภาพลิควิดจะตกไปอยู่ในมือคนนอก การควบกิจการโดยธุรกิจของไต้หวันหนนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่กิจการเก่าแก่ที่ปกติจะอยู่ในมือของญี่ปุ่นเท่านั้นจะถูกซื้อโดยต่างชาติ
สำหรับ ฟอกซ์คอนน์นั้นเป็นผู้ประกอบเครื่องโทรศัพท์ไอโฟนรายใหญ่ ส่วนชาร์ปเป็นกิจการเก่าแก่ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ธุรกิจทั้งสองอาจจะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ โดยชาร์ปมีจุดแข็งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ต่อไปฟอกซ์คอนน์ซึ่งทำการตลาดมามากรวมทั้งสำหรับแอปเปิลอาจมาเป็นผู้ดูแลเรื่องการตลาดในอนาคตให้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีผู้มาช่วยรื้อฟื้นธุรกิจให้ชาร์ปแล้วถึงสองรายแต่ล้มเหลว
ทั้งนี้ การควบกิจการครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักกับกิจการด้านเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจญี่ปุ่นในด้านนี้ไม่ค่อยต้อนรับคนนอกและมักเก็บหลายอย่างไว้ในกลุ่มของตนเอง ด้านหนึ่งเพราะเกรงจะหลุดมือไป อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจญี่ปุ่นที่มักจัดการปัญหากันเป็นการภายใน แต่ครั้งนี้ต้องยอมเปิดทางเพราะชาร์ปเผชิญปัญหาหนักและทรุดมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2555 ที่บริษัทเกือบจะล้มละลาย