- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 11 February 2016 12:05
- Hits: 1496
สศอ.เชื่อมั่นปี 2559 หลายปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมโตต่อเนื่องรถยนต์ผลิตเกิน 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
สศอ. เชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะได้รับปัจจัยสนับสนุนในปี 2559 จากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รวมถึงการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก ส่งผลให้อุตฯ รถยนต์ในปี 2559 จะมียอดการผลิตประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ขณะที่อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตอย่างมากในไตรมาส 3 ของปี 2559 ส่วนอุตฯ อาหารจะขยายตัวจากมาตรการภาครัฐ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเซรามิกจะฟื้นตัวจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 ว่า GDP ภาพรวมช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้ายังหดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภค ในประเทศ (สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 60 ของผลผลิตรวม) อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตรวม) อาทิ การผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุปรับตัวลดลง
สำหรับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 ขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.1 อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การกลั่นน้ำมัน และเครื่องปรับอากาศ โดยทั้งปี 2558 ข้อมูลรวม 11 เดือน MPI ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.23
โดยภาวะอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์จำนวน 165,170 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.25 จำหน่ายรถยนต์ในประเทศจำนวน 76,246 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 31 เดือน และการส่งออกรถยนต์มีจำนวน 101,650 คัน ลดลงร้อยละ 4.64 โดยการส่งออกรถยนต์นั่งมีจำนวน 34,421 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.54 ซึ่งเป็นการลดลงในประเทศแถบโอเชียเนีย แอฟริกา รวมทั้งอเมริกากลางและใต้ ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน จำนวน 58,578 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.98 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย รวมทั้งตะวันออกกลาง
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวมพฤศจิกายน 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.38 สินค้า อิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD และ Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.83 และ 5.61 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ยกเว้นกลุ่ม Monolithic IC และ Other IC ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.42 และ 1.56 เนื่องจากมีการส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก ตามความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ที่ปรับตัวเพิ่มมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.89 19.48 และ 14.82 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังตลาดอาเซียนมีการขยายตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะเวียดนาม และอินโดนีเซีย จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนพฤศจิกายน 2558 มีปริมาณ 1.21 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.45 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 15.09 การส่งออกมีมูลค่า 43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.65 สำหรับการนำเข้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.16 เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวอยู่ ทำให้กำลังซื้อลดลงสำหรับทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีผลทางด้านจิตวิทยาทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อ ส่งผลให้ผู้ผลิตยังคงมีสต๊อกอยู่ นอกจากนี้จากการที่อุตสาหกรรมเหล็กโลกเกิด over supply ทำให้ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ส่งสินค้ามายังประเทศต่างๆ ของโลกทำให้หลายประเทศต่างกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เดือนพฤศจิกายน 2558 การผลิตเส้นใยสิ่งทอและเส้นด้ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.28 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่ คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี สำหรับการผลิตผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะชะลอตัวจนถึงสิ้นปี เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการผลิตลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการส่งออกเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอร้อยละ 4.19 จากความต้องการในตลาดคู่ค้าลดลงได้แก่ อินโดนีเซีย และอินเดีย ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.12 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม และเมียนมาร์สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 1.80 จากคำสั่งซื้อในตลาดหลักลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยกเว้นเพียงตลาดสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น
สำหรับ อุตสาหกรรมอาหาร ในเดือนพฤศจิกายน 2558 การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.1 เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และสินค้าประมงที่ปรับตัวลดลงมาก รวมถึงการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง เช่น สินค้ากลุ่มธัญพืชและแป้ง อาหารสัตว์ และน้ำมันพืช ส่วนมูลค่าการส่งออก ในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11 .2 จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก การเติบโตทางเศรษฐกิจมีอัตราที่ลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง ส่วนการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
นายวีรศักดิ์ กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2559 ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญคือ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ การทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปี 2559 นั้นเริ่มจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีน ปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 6.3 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ ภัยแล้ง เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ หลังธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 และมีสัญญาทยอยปรับอัตราขึ้นอย่างช้าๆ ในอนาคต
สำหรับ คาดการณ์อุตสาหกรรมเด่นในปี 2559 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์จะมียอดรวมการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมมีการขยายตัว เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น
ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเซรามิกในปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโตตามไปด้วย
ทั้งนี้ การคาดการณ์ของ สศอ. มีสมมติฐานว่าในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0 - 1 ส่วนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.5 สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ (-0.5) - (0.5) และในปี 2559 จะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม