- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 09 February 2016 22:35
- Hits: 3077
'ซัมซุง'ยังไม่ลงทุนเพิ่มในไทย บีโอไอคุยอิเล็กทรอนิกส์หลายรายจ่อซบอก
'อรรชกา' เผย ดึงดูด 'ซัมซุง'ลงทุนเพิ่มในไทยไม่สำเร็จ ลุ้น 'สมคิด' กล่อมอีกครั้งระหว่างโรดโชว์ลงทุนไทยในเกาหลีใต้ 22–25 มี.ค.นี้ ด้าน “บีโอไอ” ระบุ ปี 58 อนุมัติส่งเสริมลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 319 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 116,885 ล้านบาท ส่วนอีกหลายรายจ่อลงทุนเพิ่มปีนี้
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการเข้าพบ นายยิม แซง-มู รองประธานอาวุโส บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ที่พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมซัมซุง ภายในบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้แจงถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทั้งการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 9 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในไทย โดยซัมซุงเป็นนักลงทุนเป้าหมายของไทยในคลัสเตอร์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นจากการเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม ผู้บริหารซัมซุงไม่ตอบรับใดๆ แต่ขอไปพิจารณารายละเอียดก่อน จึงต้องติดตามผลการเดินทางไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เกาหลีใต้อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 22-25 มี.ค.ว่าซัมซุงจะตัดสินใจอย่างไร
“ที่ผ่านมา แม้บริษัทยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ ซัมซุง ได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์จากไทยไปเวียดนาม แต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไม่มากนัก เพราะไทยไม่มีโรงงานผลิตจอภาพ คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าโทรทัศน์ทั้งหมด งานส่วนใหญ่ที่ทำในไทยมีเพียงการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งได้มูลค่าเพิ่มภายในประเทศน้อย และใช้แรงงานมาก จึงย้ายฐานไปยังเวียดนาม ซึ่งนำเข้าจอภาพจากจีนได้สะดวกกว่า และแรงงานราคาถูก”
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีความแข็งแกร่งในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เป็นต้น เพราะไทยเป็นฐานการผลิตคอมเพรสเซอร์ในเครื่องทำความเย็น และมอเตอร์ไฟฟ้าอันดับต้นๆของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบ สำคัญในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้ประกอบการจึงไม่ย้ายฐานออกจากไทย โดยในกลุ่มสินค้านี้ มีมูลค่าการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าโทรทัศน์มาก
นางอรรชกา กล่าวต่อว่า นอกจากการเชิญชวนนักลงทุนรายใหญ่ ให้เข้ามาลงทุนแล้ว รัฐบาลควรสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ผลิตกล่องควบคุมอัจฉริยะ ที่ใช้ควบคุมการทำงานในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มาก เพียงแต่ต้องการผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ มีความตั้งใจจริง และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเสริม ก็สามารถผลิตนวัตกรรมด้านนี้ได้ไม่ยาก หากทำได้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ได้มาก
ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ว่า บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายมีแผนจะเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งการขยายการลงทุนของบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทยแล้ว และโครงการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ และนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสร้างนวัตกรรม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
“ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 319 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 116,885 ล้านบาท โดยเป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ 173 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,367 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรคมนาคม 8 โครงการ เงินลงทุน 17,017 ล้านบาท และกิจการ Cloud Service 2 โครงการ ลงทุน 520 ล้านบาท”
สำหรับ บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ผลิต Lighting Device ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบจอแอลซีดีสำหรับจอภาพโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 3,960 ล้านบาท บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอ่อนสำหรับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แผ่นวงจรสำหรับควบคุมการสั่น การแสดงผลหน้าจอ หรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกสำหรับแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ เงินลงทุน 2,972 ล้านบาท บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตมาต่างประเทศครั้งแรกของโซนี่ และโครงการผลิตเครื่องปรับอากาศของบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอนซูมเมอร์โพรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 10,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุน เพิ่มด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งปีที่ผ่านมาบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท ซิลิคอน คราฟ เทคโนโลยี จำกัด เงินลงทุน 20 ล้านบาท แม้เป็นบริษัทเล็ก แต่คิดค้นนวัตกรรมเอง คือการออกแบบชิพค้นหาตำแหน่งที่ฝังในตัวสัตว์เพื่อนับจำนวน และตรวจติดตามการเจริญเติบโต โดยมีลูกค้าอยู่ในสหภาพยุโรป.
ที่มา : www.thairath.co.th
'อรรชกา'ยกเกาหลีต้นแบบพัฒนาอุตฯ เล็งเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุน
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการนำคณะเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า เกาหลีใต้ เป็นต้นแบบ ของความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของโลก และใช้ไทยเป็นฐานการผลิต การเดินทางมาเกาหลีใต้ครั้งนี้ เพื่อให้เห็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต พร้อมหารือกับผู้บริหารบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทย และแผนการลงทุนในอนาคต ซึ่งมีความสนใจลงทุนตามนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ของไทยอย่างมาก
สำหรับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย จัดเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯคลัสเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ได้ข้อสรุปถึงผลิตภัณฑ์เป้าหมาย นักลงทุน รายใหญ่ และประเทศเป้าหมายแล้ว เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯเดิม ด้วยการชักจูงนักลงทุนรายใหญ่จากทั่วโลกให้มาลงทุน
โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 12 รายการ ซึ่ง คณะอนุกรรมการฯได้เสนอให้มีมาตรการสนับสนุนพัฒนาคลัสเตอร์ 4 ด้านเพิ่มเติม เพื่อจูงใจนักลงทุนเพิ่ม ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการสนับสนุนเงินทุน
นายสันติ กนกธนาพร ผู้อำนวยการสถาบัน เพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวภายหลังการหารือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตเกาหลีใต้ ว่า จากการเดินทางมาหารือ พบว่า สถาบันเพิ่มผลผลิตของไทยและเกาหลีใต้จะมีความ แตกต่างกันหลายด้าน โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตเกาหลีใต้ จะเน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมเป็นหลัก และได้รับ งบประมาณอุดหนุนจากรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ไทยมีนวัตกรรมที่พัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์น้อย เพราะต่างคนต่างทำ ขาดยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน และได้รับการจัดสรรงบที่น้อยกว่าเกาหลีใต้อยู่มาก
ทั้งนี้ หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศ ก็ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจน โดยได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม จึงทำให้การพัฒนาประเทศมีจุดหมายที่เด่นชัด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการฟุ่มเฟือยในด้านที่ไม่จำเป็น รวมทั้งมีแผนที่จะปรับปรุงสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเบื้องต้นมีแผนที่จะยกบทบาทของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ขึ้นมาเพิ่มผลผลิตทั้งประเทศและผลักดันเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งปรับบทบาท ขึ้นมาเป็นหน่วยงานดูแลเชื่อมโยงบูรณาการ นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของทั้งประเทศ เพื่อให้มีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และลดการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อน โดยกระจาย บทบาทไปให้หน่วยงาน สถาบันการศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านที่ตัวเองชำนาญ เปลี่ยนจากเดิมที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจะไปอบรมให้ความรู้เองในทุกด้าน อย่างไรก็ตามแผนการปรับโครงสร้างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐ คาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น