- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 09 February 2016 09:26
- Hits: 1689
กสอ.ตั้งเป้าเงินสะพัดกว่า 10 ล. โชว์ศักยภาพคลัสเตอร์แฟชั่น
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจแฟชั่น 51 ราย 6 ย่านการค้า ได้แก่ ย่านการค้าผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ย่านการค้าเสื้อผ้ามุสลิมมีนบุรี ย่านการค้าเทอมินัล 21 ย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร ย่านการค้าสำเพ็ง และย่านการค้าสยามสแควร์ ร่วมเปิดศักราชปี 59 ดึง 42 แบรนด์ เมดอินไทยแลนด์ โชว์ศักยภาพ ณ สยามสแควร์ ตั้งเป้าสร้างเม็ดเงินสะพัดตลอดปีกว่า 10 ล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นในปี 2558 ที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกในปี 2558 กว่า 6 แสนล้านบาท ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมใน 4 ด้านหลัก คือ ด้านการจ้างงาน ด้านการลงทุน ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม และด้านการส่งออก รวมทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่นยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก เนื่องจากประกอบด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสามารถ เข้าถึงแหล่งทุน การแนะแนวทางการออกแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาคุณภาพในการผลิต การสร้างแบรนด์ และการสร้างสรรค์แฟชั่นในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่นปัจจุบัน ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) ดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจแฟชั่น ภายใต้ชื่อ "บางกอก แฟชั่น คลัสเตอร์" (Bangkok Fashion Cluster) ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการในแต่ละเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการและการออกแบบให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของเครือข่าย รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วม เป็นสมาชิก
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เครือข่าย บางกอก แฟชั่น คลัสเตอร์ ได้คัดเลือกผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ผ่านการพัฒนาจากกิจกรรมสร้างเครือข่ายและจัดทำฐานข้อมูลย่านแฟชั่นของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจำนวน 51 ราย จาก 6 ย่านการค้า ดังนี้ 1.เครือข่ายย่านการค้าผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 2.เครือข่ายย่านการค้าเสื้อผ้ามุสลิมมีนบุรี 3.เครือข่ายย่านการค้าเทอมินัล 21 4.เครือข่ายย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร
ส่วน 5.เครือข่ายย่านการค้าสำเพ็ง และ 6.เครือข่ายย่านการค้าสยามสแควร์กว่า 42 แบรนด์ ล่าสุดร่วมกันประเดิมจัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ เพื่อปลุกกระแสความ ตื่นตัวในสินค้าของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น และแสดงผลงานให้ประชาชนได้เห็นถึงประสิทธิภาพของแบรนด์แฟชั่นผู้ประกอบการไทย โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นครั้งแรกช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ สยามสแควร์ ตั้งเป้าให้เกิดมูลค่าการขายสินค้าตลอดปีไม่ต่ำกว่าประมาณ 10 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ผู้ประกอบการที่สนใจจะรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาธุรกิจ สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2202-4575 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ
ม.ค.ยอดลงทุนเพิ่ม 3%ซูเปอร์คลัสเตอร์'หนุน'อุตฯฟุ้งสิ้น Q1 เห็นผลชัด
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดการเปิดกิจการใหม่ในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวน 282 โรงงาน ลดลง 13.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (326) แต่มูลค่าการลงทุน มีมูลค่า 17,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.45% เมื่อเทียบกับ ปีก่อน (17,136) มีการจ้างงาน 6,937 คน เพิ่มขึ้น 9.74% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (6,321) ส่วนการขยายกิจการในเดือนมกราคม มีจำนวน 58 โรงงาน ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดเงินลงทุน 17,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน(13,750)
"ในเดือนมกราคม ยอดเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการมีการเติบโตขึ้นระดับหนึ่ง ซึ่งอาจมาจากมาตรการสนับสนุนทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของรัฐบาล รวมทั้งการออกสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีนี้ รวมทั้งต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลงของ ผู้ประกอบการ จากราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการเปิดเออีซี ล้วนเป็นปัจจัยบวกทำให้บรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมา" นายพสุกล่าว
นายพสุ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันในขณะนี้เริ่มเห็นผลการขยายตัวแล้วในเดือนนี้ โดยมีการลงทุนและขยายกิจการมากขึ้น อาทิ ยานพาหนะและชิ้นส่วน มีมูลค่าการลงทุน 12,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 756% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (1,471) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง มีมูลค่าการลงทุน 4,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 99.53% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (2,144) เป็นต้น และคาดว่าจะเห็นผลชัดหลังไตรมาส 1 ของปีนี้
นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลโรงงานที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า 85% มีการลงทุนจริง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้ใบ รง.4 ส่วนใหญ่มีการวางแผนธุรกิจไว้ล่วงหน้า เพียงรอดูสถานการณ์และบรรยากาศที่เหมาะสมในการลงทุนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เมื่อได้รับใบอนุญาต ก็จะเริ่มลงทุนทันทีภายใน 1 ปี